แรงงานสูงวัย ลมหายใจของอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย พรประไพ เสือเขียว
แฟ้มภาพ
"อายุ 53 มาสมัครงานกับโฮมโปรได้" ใช่ประโยคนี้ฟังไม่ผิด นโยบายการรับสมัครงานของบริษัทขายอุปกรณ์บ้านระดับแนวหน้าของเมืองไทย มองว่า นี่คือโอกาสในช่วงที่วิกฤติการขาดแคลนแรงงานภาคหนุ่มสาว ในสังคมมีคนสูงอายุมากขึ้นแต่งานขายสินค้าดังกล่าวต้องการคนมีประสบการณ์ด้านช่าง มีความรู้เรื่องเกษตร มีประสบการณ์ด้านทำอาหาร เป็นต้น และข้อดีผู้สูงวัยใจเย็นรับมือกับงานบริการได้
เวที เสวนา "แรงงานสูงวัย ลมหายใจของอนาคต" ที่จัดโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำเสนอรูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุในบริษัทภาคเอกชนได้แก่ บริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด และบริษัท โรงเส้นหมี่ซอเฮง จำกัด
นายชานันท์ วัฒนสุนทร ผู้ช่วยกรรมการรองประธาน ฝ่ายจัดการทรัพยากรบุคคล จากบริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมี 77 สาขาทั่วประเทศและกำลังขยายไปในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ละปีต้องรับพนักงานปีละ 3,000 คน หลังจากผู้บริหารเดินทางไปกลุ่มประเทศยุโรปเห็นว่า ส่วนใหญ่ในห้างสรรพสินค้ามีพนักงานคนแก่ จากสาเหตุหลักที่บริษัทขาดแคลนแรงงาน จึงปรับกลยุทธ์ใหม่เล่นกับตัวเลข ที่รับสมัครพนักงาน คนหนุ่มสาวไม่เกิน 35 ปี เปลี่ยนเป็นอายุไม่เกิน 53 ปีแทน
"เราเห็นว่ากลุ่มคนวัยนี้มีประสบการณ์การทำงานและมีความสามารถในการทำงานได้อยู่ แต่ก็ต้องพิจารณาจากสุขภาพด้วย และหากเลยวัยเกษียณแต่ยังต้องการทำงานและมีศักยภาพเพียงพอ จะจ้างในลักษณะรายวัน รายชั่วโมง"
ผู้ช่วยกรรมการรองประธาน ฝ่ายจัดการทรัพยากรบุคคล จากบริษัท โฮมโปรดักส์ บอกว่า บริษัทเริ่มนโยบายนี้มา 1 ปีแล้ว ใช้วิธีลงไปหาผู้สูงอายุในชุมชน บางคนเป็นอาจารย์ด้านเกษตรเกษียณอายุมา มีความรู้เรื่องไฟฟ้า เจ้าหน้าที่แคชเชียร์ พนักงานจัดเรียงสินค้า เป็นต้น แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือเรื่องการปะทะกับลูกค้า เพราะงานด้านการขายต้องเจอลูกค้าหลากรูปแบบ ผู้สูงอายุอาจน้อยใจขอลาออก แต่การทำงานร่วมกับคนหนุ่มสาวมีปัญหาน้อย
"อุปสรรคอีกด้านที่เจอเมื่อลงไปในพื้นที่ ลูกหลานไม่ยอมให้มาทำงานทั้ง ๆ ที่ผู้สูงอายุอยากทำ เพราะยังติดเรื่องความกตัญญู อาจถูกสังคมมองว่าดูแลพ่อแม่ไม่ดี"
ด้าน ดร.วราทัศน์ วงศ์สุไกร ผู้บริหาร บริษัท โรงเส้นหมี่ซอเฮง จำกัด กล่าวว่า โรงงานตั้งมา 80 ปี ขณะนี้มีคนเกษียณอายุมาช่วยงานในบริษัทไม่ต่ำกว่า 50% หากเห็นว่างานหนักเกินไปก็จะปรับเปลี่ยนไปอยู่หน่วยอื่น ถ้าต้องการเกษียณอายุ 60 จะได้เบี้ยยังชีพจากบริษัทเดือนละ 3,000 บาท อายุ 70 ปีขึ้นไปได้เดือนละ 4,000 บาทจนกระทั่งเสียชีวิต กรณีเจ็บป่วยบริษัทจ่ายค่ารักษาให้หมด
"โรงงานต้องการแรงงานมีความชำนาญซึ่งฝึกกันลำบาก บางปีช่วยได้สักเคสก็คุ้ม เช่น น้ำท่วมปี 54 เราได้คนเก่าแก่ที่รู้วิธีสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม อีกทั้งเป็นคนท้องถิ่น ถ้าไม่ได้เขาเราต้องปิดโรงงานถึง 6 เดือน" ผู้บริหารโรงงานเส้นหมี่จาก จ.นครปฐม บอกเล่า "ผึ้งน้อย" เป็นแบรนด์เบเกอรี่ เจ้าแรก ๆ ในเมืองไทย อยู่ในธุรกิจเบเกอรี่มาแล้ว 30 ปี ปัจจุบันมีสาขา 80 แห่ง มีพนักงาน 1,200 คน ยุทธนา กล้าผจญ ผู้บริหาร บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด กล่าวว่า ในธุรกิจเบเกอรี่นอกจากขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาวแล้ว ยังถูกปัญหา
การแย่งพนักงานจากซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่ เช่นเดียวกันงานระดับใช้แรงงานทำงานหน้าเตาอบต้องใช้ต่างชาติทั้งหมด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาพนักงานสูงอายุไว้ แต่ก็ดูทัศนคติด้วย หากใกล้เกษียณมีทัศนคติที่ดีก็จ้างต่อ โดยดึงศักยภาพด้านการบริหารของผู้สูงอายุมาใช้ เช่น ระบบสายส่งช่วยได้มากผู้สูงอายุจะรู้ว่าถ้าขนมไปส่งในแต่ละสาขาไม่ทัน ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสินค้าไม่ใส่สารกันบูด
"ภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ประโยชน์ต่าง ๆ กับสถานประกอบการในกรณีที่มีการจ้างผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยให้สถานประกอบการต่าง ๆ จะได้ตั้งเป็นนโยบายในการจ้างงานผู้สูงอายุให้มากขึ้น เช่น มาตรการด้านภาษี เป็นต้น" ผู้บริหารธุรกิจเบเกอรี่เก่าแก่ฝากข้อเสนอแนะ
รศ.สถิตพงษ์ ธนวริยะกุล ผู้จัดการชุดโครงการ ด้านเศรษฐกิจ มูลนิธิพัฒนาสาธารณสุขไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า โครงสร้างวัยแรงงานของสังคมไทยใกล้หมดยุคของคนรุ่นเบบี้บูม เริ่มขาด แคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว องค์กรต้องรักษาแรงงานสูงวัยให้อยู่ในระบบเดิม ปรับระบบเกษียณอายุจาก 55 ปีเป็น 60 ปี ภาครัฐก็ต้องสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ภาษีให้กับสถานประกอบการที่มีการจ้างผู้สูงอายุ
ในปี พ.ศ. 2573 หรืออีกประมาณ 13 ปีข้างหน้า ประเทศ ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ประชากรผู้สูงอายุจะมีถึง 17 ล้านคน จากประชากรรวม 70.6 ล้านคน …สังคมต้องมีระบบดูแลผู้สูงอายุอย่างมั่นคงและสมดุล.