แรงงานนอกระบบร้องประกันสังคม “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า”

เน้นเกษตรกร กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มแรงงานภาคบริการ

แรงงานนอกระบบร้องประกันสังคม “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” 

 

          น่าจะเป็นฝันดีสำหรับแรงงานนอกระบบ เมื่อสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ของนายกสมัคร สุนทรเวช ประกาศเตรียมขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ หากกลายเป็นฝันค้างของกลุ่มแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มแรงงานภาคบริการ ที่รณรงค์และขับเคลื่อนการได้รับสิทธิประกันสังคมมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี ตอกรอบการพิจารณาส้มหล่นตกอยู่กับกลุ่มผู้ขับรถยนต์แท็กซี่เพียงกลุ่มเดียว วอนรัฐบาลอย่าหลงลืมหลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข และความเท่าเทียมของแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่ การเริ่มต้นควรพิจารณาจากความสมัครใจของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ทางกลุ่มฯเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ 4 ข้อหลัก รัฐร่วมจ่าย, ครบสิทธิประโยชน์พื้นฐาน, แยกกองทุน และจ่ายเงินสมทบจากรายได้เฉลี่ย ขีดเส้นใต้คำถามเมื่อไรฝันจะเป็นจริง แล้วจะให้รอถึงพ.ศ.ไหน

 

          การประกาศนโยบายของรัฐบาลในการนำร่องจำลองรูปแบบการเตรียมการขยายฐานการให้ความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 กับกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ โดยใช้หลักประกันตนบางอย่างตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ตามมาตรา 39 ที่ให้สิทธิประโยชน์ อาทิ เช่น ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และกรณีคลอดบุตร ซึ่งนโยบายรัฐจะดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริงในเชิงลึกกับกลุ่มผู้ขับรถยนต์แท็กซี่ เพื่อเก็บรวบรวมเป็นข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับรถแท็กซี่ ผู้รับรถยนต์แท็กซี่ เพื่อให้ได้ข้อมูลปัจจุบัน และมีความถูกต้องตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เบื้องต้นยึดหลักการจ่ายเงินสมทบอัตรา 432 บาท เทียบเท่าการจ่ายของแรงงานในระบบ สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมา ไม่รู้รัฐบาลคิดอะไรอยู่ เพราะกลุ่มผู้ขับรถยนต์แท็กซี่เพียงกลุ่มเดียวไม่สามารถเป็นตัวแทนของกลุ่มแรงงานนอกระบบได้ทั้งหมด รวมทั้งยังเป็นกลุ่มตัวแทนแรงงานนอกระบบในเมือง ซึ่งมีฐานรายได้สูง รัฐควรกระจายกลุ่มทดลองนำร่องยังกลุ่มอื่นๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลได้ในการขยายฐานการให้ความคุ้มครองประกันสังคมได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

 

          จากปัญหาที่ยากในการค้นหานายจ้างของกลุ่มแรงงานนอกระบบที่จะร่วมจ่ายเงินกองทุนสมทบ เนื่องจากการรับงานอิสระและความหลากหลายของอาชีพ หากความไม่แน่นอนของรายได้ อาจขาดความสามารถในการจ่ายเงินสมทบ เพื่อให้กองทุนประกันสังคมมีโอกาสลืมตาดูโลก สมาชิกกลุ่มแรงงานนอกระบบจึงนำเสนอให้ขยายโอกาสให้กลุ่มสมัครใจมีความพร้อมที่จะร่วมจัดตั้งกองทุนก่อน โดยยึดหลักการประกันสังคมที่เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข การร่วมด้วยช่วยจ่าย การจ่ายเงินสมทบระหว่างผู้สมัครใจและรัฐคนละครึ่ง โดยเงินสมทบของแรงงานตามความสามารถ กำหนดรายได้สูงสุดและต่ำสุด ซึ่งจากผลการสำรวจรายได้ของสมาชิกแรงานนอกระบบพบว่า มีรายได้เฉลี่ย 3,000 บาท สมทบ 150 บาทต่อเดือน, ช่วงรายได้ปานกลาง 6,000 บาท สมทบ 300 บาทต่อเดือน และช่วงรายได้สูง 10,000 บาท สมทบ 450 บาทต่อเดือน ทั้งนี้สวัสดิการต้องครอบคลุมสิทธิประโยชน์พื้นฐาน 4 กรณี ได้แก่ การจ่ายเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย

 

          การเริ่มต้นในระยะแรกเริ่มจากกลุ่มผู้สมัครใจจากกลุ่มแรงงานนอกระบบจำนวน 21.5 ล้านคน จะสามารถเข้าถึงระบบการคุ้มครองและสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพสอดคล้องเท่าเทียมกับแรงงานประเภทอื่นๆ และเป็นบทเรียนสำหรับการจัดทำกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในอนาคต รวมถึงการขยายฐานการประกันสังคมครอบคลุมในกลุ่มต่างๆ ของแรงงานนอกระบบมากขึ้น มีผู้แทนแรงงานนอกระบบเข้าไปมีส่วนร่วมกับคณะกรรมการบริหาร มีความโปร่งใสในระบบบริหารที่สามารถตรวจสอบได้ ระยะต่อมารัฐควรมีนโยบายทางภาษีกับบริษัทหรือสถานประกอบการที่กระจายงานออกไปยังท้องถิ่น เพื่อนำมาสมทบกับการจัดตั้งกองทุน รวมทั้งการพัฒนาการจัดเก็บเงินสมทบที่เหมาะสมกับแรงงานนอกระบบ ผ่านกลไกของกลุ่มหรือองค์กรปกครองท้องถิ่น และมีค่าตอบแทนการบริหารจัดการให้ในอัตราร้อยละ 2-3 ของเงินสมทบที่เก็บได้จากผู้ประกันตนเอง สุดท้ายต้องมีการปรับปรุง การกำหนดกฎเกณฑ์ ระยะเวลา เป็นช่วงๆ เพื่อปรับฐานรายได้เฉลี่ยของแรงงานนอกระบบในระยะแรก เพื่อวางแผนการเงินในระยะยาว เพื่อออกแบบสิทธิประโยชน์และความมั่นคงของกองทุน จากฝันค้างก็จะกลายเป็นความจริงเสียที

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต 

 

 

Update:29-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code