‘แม่วัยรุ่น’ ล้นประเทศ ปัญหาใหญ่ต้องแก้ไข
ที่มา : เนชั่นสุดสัปดาห์
ขณะที่ภาคเศรษฐกิจพูดอยู่บ่อยครั้งว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบแก่ก่อนรวย (ไม่เหมือนญี่ปุ่น แม้จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่ก็รวยแล้ว) โดยสิ่งที่เป็นห่วงกันมากคือ ประชากรวัยทำงานมีน้อยเมื่อเทียบกับคนวัยเกษียณ อัตราการเกิดทดแทนไม่สมดุล
ที่น่าวิตกมากไปกว่านั้นคือ ผู้ที่ให้กำเนิดเด็กใหม่นั้นส่วนใหญ่เป็น 'แม่วัยรุ่น' อายุไม่ถึง 20 ปี และจำนวนมากอยู่ในระบบการศึกษา รายงานสถิติการคลอดบุตรของแม่วัยรุ่นไทยปี 2557 พบว่า วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตรปีละ 1.2 แสนคน (47.9 คน ต่อประชากร 1,000 คน) หรือเฉลี่ยวันละ 334 คน และวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี ที่คลอดบุตรซ้ำหรือคลอดเป็นครั้งที่สองถึง 14,338 คน คิดเป็น 12.8 เปอร์เซ็นต์
หากเปรียบเทียบอัตราแม่วัยรุ่น (อายุ 15-19 ปี) ในกลุ่มประเทศอาเซียนและติมอร์เลสเต ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของภูมิภาคคือ 44 คน ต่อ 1,000 คน พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 6 รองจากลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ติมอร์เลสเต กัมพูชา ตามลำดับ และมีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 พบว่า วัยรุ่น (อายุ 15-19 ปี) จำนวน 32 เปอร์เซ็นต์ ต้องออกจากการศึกษาสาเหตุจาก 'ท้องในวัยเรียน' ผู้หญิงที่มีบุตรตั้งแต่เป็นวัยรุ่น มีโอกาสเรียนต่อระดับปริญญาตรี น้อยกว่าผู้หญิงทั่วไป 12 เท่า มีโอกาสได้งานในสายวิชาชีพน้อยกว่า 6 เท่า ส่งผลให้สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้ตลอดชีวิต 22 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้หญิงทั่วไป
ขณะที่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ของไทย (15-49 ปี) มีบุตรเฉลี่ย 1.6 คน อัตราการเกิดโดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการการเกิดจากแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี กลับมีจำนวนมากขึ้น นิยามสั้นๆ ของปรากฏการณ์นี้คือ 'ไทยกำลังเผชิญปัญหา เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ' นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้วยความตระหนักถึงปัญหาข้างต้น ในกลุ่มคนทำงานจึงได้ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมานานนับสิบปี ในที่สุด พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ก็คลอดออกมา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2559
สาระสำคัญคือ กำหนดสิทธิทางเพศสำหรับเด็กเยาวชน พร้อมกับกำหนดบทบาทหน้าที่ของกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงาน ภายใต้คณะกรรมการระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
สิทธิทางเพศตามที่กฎหมายรองรับ ประกอบด้วย 1.ให้สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับช่วงวัย มาตรา 6 (1) 2.เมื่อตั้งครรภ์สามารถเรียนต่อได้ มาตรา 6 (2) ระบุว่าให้สถานศึกษาจัดระบบการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครอง ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสม 3.วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง มีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยเจริญพันธุ์ ได้รับการรักษาความลับความเป็นส่วนตัว (มาตรา 5) 4.มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาจากการตั้งครรภ์ 5.วัยรุ่นพ่อแม่ได้รับการสนับสนุนให้เลี้ยงดูลูกอย่างมีคุณภาพ
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย หน่วยงานเจ้าภาพผู้ผลักดันกฎหมายข้างต้น กล่าวถึงความเป็นมาว่า ตอนขับเคลื่อนช่วงแรกในร่างเก่ามีมาตราหนึ่งเขียนว่าท้องแล้วต้องได้เรียน มีกระแสโจมตีมากมาย พอขับเคลื่อนเรื่อยๆ เหมือนมีการให้ความรู้แก่สังคม เกิดการเรียนรู้ ยอมรับว่าหากเกิดขึ้นแล้วไม่แก้ จะยิ่งทำให้เป็นภาระต่อสังคม ภาพรวมในปัจจุบันกระแสต่อต้านลดลง แต่ระดับบุคคลยังมีอยู่บ้าง
แรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนเรื่องนี้?
"ปัญหามีอยู่แล้ว ผมมองว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานด้วยว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นหนึ่งของอนามัยการเจริญพันธุ์ มีการขับเคลื่อนโดยภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะอินเตอร์เนชั่นแนลเอเยนซีทั้งหลาย ภาพรวมคือ WHO พยายามเคลื่อนการทำงานวัยรุ่นว่ามีมาตรฐานอะไรบ้าง ต้องทำอะไร ทั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย 5 กระทรวงประกอบด้วย สาธารณสุข ศึกษาธิการ แรงงาน มหาดไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ มองว่า อุปสรรคของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือทัศนคติ กล่าวคือ คนทั่วไปมองว่ากฎหมายออกมาเพื่อเอื้อต่อวัยรุ่นท้องมาใช้สิทธิ แต่ตนอยากให้มองว่าคงไม่มีใครอยากมีปัญหาเพื่อมาใช้สิทธิ์ และว่าตอนยกร่างได้ทำประชาพิจารณ์ ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะตามแก้ปัญหา แต่มีการพูดคุยทั้งระบบ ทั้งวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ส่งเสริมสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงบริการเชิงป้องกัน หากเกิดปัญหาแล้วให้เข้าถึงบริการด้านช่วยเหลือเยียวยา ทั้งด้านสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม
ทำไมวัยรุ่นถึงท้องไม่พร้อม? (หมายถึง กลุ่มวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อม อาจกำลังอยู่ในวัยเรียน ไม่มีงานทำ ไม่พร้อมเลี้ยงดูบุตร) นั่นเป็นเพราะขาดความฉลาดรู้ในเรื่องเพศศึกษา
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผอ.สำนักงานสนับสนุนการร่วมกับภาคีเครือข่าย และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 5 แห่ง ตาม พ.ร.บ. จัดประชุมวิชาการ 'เซ็กส์เปิดในวัยรุ่น' ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางลดจำนวนแม่วัยรุ่น โดยตั้งเป้าลดการตั้งท้องในวัยเรียน 50% ภายใน 10 ปี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์เด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีปัญหาเกิดน้อยด้อยคุณภาพ เนื่องจากสัดส่วนการทดแทนประชากรลดลง ขณะที่ปัญหาแม่วัยรุ่นมีจำนวนมากขึ้น
ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปี 2558 มีจำนวนหญิงคลอดบุตรวัย 10-19 ปี จำนวน 104,289 คน หรือเฉลี่ยวันละ 286 คน คิดเป็นอัตราสูงถึงร้อยละ 15 ของการคลอดทั้งหมด นอกจากนี้พบว่าปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้น การทำแท้งไม่ปลอดภัย การทอดทิ้งทารก และคุณภาพของประชากรที่เกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยง สสส.กล่าวว่า ได้จัดงานลักษณะนี้ครั้งแรกเดือนกันยายน 2557 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี กล่าวคือ ปลายปีเดียวกันมีการขึ้นทะเบียนยายุติการตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นองค์การอนามัยโลกแนะนำมาเป็นสิบปีแต่ไม่สำเร็จ ยาตัวนี้เตรียมขึ้นเป็นบัญชียาหลักของ สปสช. เป็นตัวส่งสัญญาณว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องต้องให้บริการหากวัยรุ่นมีความจำเป็น
เรานำตัวอย่างจากต่างประเทศมาให้ดู กฎหมายจะมีส่วนช่วยลดความเชื่อผิดๆ ให้เบาบางลง แต่ต้องช่วยกันสื่อสารด้วยว่า ผู้ใหญ่ควรเปิดใจคุยกับลูกเรื่องเพศ อย่าปล่อยให้เด็กเรียนรู้เองตอนโต หรือต่อต้านการสอนเรื่องเพศในโรงเรียน
"ไม่ใช่ว่าแม่วัยรุ่นทุกคนจะเสียทั้งหมด เราเชื่อว่าโอกาสที่เขาจะผ่านพ้นชีวิตช่วงทุกข์ยาก กลับมาอยู่ในสังคมไม่ง่าย จำนวนมากมันเป็นวงรอบ แม่วัยรุ่นจะเป็นแม่ของลูกวัยรุ่น วงจรนี้ทำให้เกิดน้อยด้อยคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และสัดส่วนคนที่เกิดมา จะตกชั้นไปเรื่อยๆ ประเทศอังกฤษมีข้อมูลชัดเจนว่า เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เห็นอนาคต อะไรใกล้ตัวทำให้เขามีประสบการณ์แปลกใหม่ก็ลอง อังกฤษตีว่าเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ แบ่งแยกชนชั้นทางสังคม ถ้าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องลดปัญหานี้ลงให้ได้"