แม่วัยรุ่น ท้องไม่พร้อม ใช้บริการคุมกำเนิดฟรี
ที่มา : มติชนออนไลน์
แฟ้มภาพ
กรมอนามัยจึงร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดบริการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิด เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม สามารถเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ได้อย่างทั่วถึง
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ในปี พ.ศ.2561 พบว่าวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 192 คน โดยมีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 7 คน และในปีเดียวกันพบว่าจำนวนหญิงคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีอยู่ 72,566 ราย โดยแยกเป็นหญิงคลอดอายุระหว่าง 15-19 ปี มีจำนวน 70,181 ราย หญิงคลอดอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวน 2,385 ราย และยังพบว่าหญิงตั้งครรภ์ซ้ำและคลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี มีถึง 6,543 ราย สำหรับสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิดและมีการตั้งครรภ์นั้น นพ.กิตติพงศ์วิเคราะห์ว่า เกิดจากโรงพยาบาลไม่สามารถจัดบริการคุมกำเนิดได้หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของวัยรุ่น เพราะจากรายงานวิจัยเรื่องการบริหารจัดการระบบงานวางแผนครอบครัวของประเทศไทย ปี พ.ศ.2553 พบโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนที่มีการจัดซื้อเวชภัณฑ์คุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร หรือห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิด มีให้บริการเพียงร้อยละ 36.6 เท่านั้น รวมถึงปัญหาที่วัยรุ่นและคนโสดมักจะถูกตีตราจากผู้ให้บริการ
“ปัจจุบันทางการแพทย์แนะนำการคุมกำเนิดในวัยรุ่นว่า ควรจะเป็นถุงยางอนามัยร่วมกับวิธีการคุมกำเนิดประเภทกึ่งถาวร หรือห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิด เนื่องจากมีประสิทธิภาพสามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลานาน 3, 5 และ 10 ปี ซึ่งสูงกว่าวิธีคุมกำเนิดที่เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นไทยคือ ยาเม็ดคุมกำเนิด”
นพ.กิตติพงศ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอเชิญวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20 ปีขึ้นไป ในกรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ใช้บริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวรด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในสถานบริการเครือข่ายของ สปสช.