‘แม่วัยทีน’ เรื่องท้องที่สังคมต้อง ‘รับ’ (รู้)
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เรื่องราวของ "แม่วัยใส" ไม่ใช่เรื่องใหม่ รู้ๆ กันอยู่ว่า เกิดขึ้นจริงในสังคม แต่ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความคึกคะนอง แต่จะมีกี่คนที่ลองสืบหาเจาะลึกถึงต้นสายปลายเหตุของสถานการณ์ "แม่วัยใส" และหันมาร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อไม่ให้สังคมไทยต้องถลำสู่ห้วงเหวของปัญหาไปมากกว่าที่เป็นอยู่
จากข้อมูลวิชาการได้ระบุถึงปัญหา ดังกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ตัวเด็กไม่ได้รับความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งสวนทางกับความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่ทำให้เยาวชนเปิดกว้างในการับสื่อมากขึ้น แน่นอนว่ายังรวมถึงวัยรุ่นสามารถเข้าถึงสื่อที่ "กระตุ้น" เพศและอารมณ์ง่ายขึ้นยิ่งกว่าเดิม เหล่านี้คืออีกคมดาบของ "สื่อ" ที่กำลังผลักดันและรุกเร้าให้วัยรุ่นวัยเรียนให้ความสนใจเพศตรงข้ามและเรื่องเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น
จากการพูดคุยกับ เจริญ เจริญลักษณ์ สาธารณสุขอำเภอบางสะพาน เขาเผยถึงตัวเลข "อายุ" ของแม่วัยใสที่น่าตกใจว่า ปัจจุบันลดลงไปถึงขนาดที่ว่า "12-13 ปี" ก็ตั้งครรภ์แล้ว!
"ร้อยละ 90 ของเด็กที่ท้องในวัยเรียน เท่าที่สัมผัสมา คือ เด็กที่พลาด อีกส่วนคือ ไม่รู้จักป้องกันตัวเองทั้งจากปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และโรคทางเพศสัมพันธ์ที่คาดไม่ถึง" เจริญย้อนถึงต้นตอปัญหา
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนอย่างชัดเจนว่า การศึกษาเรื่องเพศในประเทศไทยยังล้าหลังอยู่มาก เพราะมีเส้นของวัฒนธรรมมาแทรกกลางอยู่ระหว่างความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสำหรับ "คนที่เป็นผู้ใหญ่" จะเปิดใจยอมรับความจริงเรื่องเพศกว้างขวาง แต่สำหรับ เจริญ และทีมงานสาธารณสุขอำเภอบางสะพาน กลับมองว่า การสอนให้เด็กเข้าใจเรื่องเพศศึกษา คือ การสอนให้เด็กรู้บทบาทในเพศของตน
"สังคมไทยมองว่าเพศศึกษา คือ การสอนให้คนมีเพศสัมพันธ์กัน หลายฝ่ายเห็นเป็นเรื่องขัดต่อจารีต และศีลธรรมอันดีของสังคมไทย แต่จุดมุ่งหมายหลักคือ เราอยากให้คนบางสะพานมองว่า นี่คือปัญหาของลูกหลานเราที่ต้องช่วยกันแก้ไข เราควรยอมรับความจริงว่าเราไม่สามารถห้ามเขาได้อีกแล้ว ดังนั้นเวลาที่เด็กมีปัญหา ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร แม้แต่ครูบางคนยังทำตัวเป็นกำแพง ซึ่งเป็นการผลักดันเด็กให้ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง"
เจริญ เป็นหนึ่งในทีมงานสาธารณสุขอำเภอบางสะพานที่ร่วมก่อตั้ง "คลินิควัยรุ่น" ขึ้นร่วมกับโรงพยาบาลบางสะพาน โดยหวังว่า ที่นี่จะเป็นศูนย์กลางและเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของพื้นที่บางสะพาน ให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น โดยเด็กวัยรุ่นที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลก็จะได้รับคำแนะนำให้ไปพบเจ้าหน้าที่ที่คลินิควัยรุ่นเพื่อรับคำแนะนำ คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตใจ เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกด้าน
นอกจากนี้ คณะทำงานยังทำงานเชิงรุกเจาะถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยบริการแจก ถุงยางอนามัยในเด็กเยาวชนผู้ชาย และ รับทำหมันแบบฝัง รวมถึงสอนเรื่องวิธีการคุมกำเนิดในเด็กผู้หญิง นอกจากนี้มีการจัดตั้งแฟนเพจ "love care บางสะพาน" เพื่อเป็นสื่อกลางรับปรึกษาปัญหาเรื่องเพศแก่เยาวชน รวมถึงการนำกลไกการทำงานร่วมกันในพื้นที่ระหว่างสถานศึกษา ท้องถิ่น ชุมชนภาคประชาสังคม และหน่วยบริการทางสุขภาพ โดยสร้างกลยุทธ์ "การทำงานแบบเครือข่าย" สร้างทีมทำงานร่วมกันในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการป้องกันและแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
โดยเริ่มต้นจากร่วมกันจัดทำแผนการทำงาน การอบรมวิทยากรกระบวนการเพื่อให้ความรู้กับพ่อแม่ในการสื่อสารเชิงบวก กับลูกเรื่องเพศ การจัดค่ายเยาวชน กลุ่มเสี่ยงพร้อมกับมีกระบวนการติดตาม อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดประชาสัมพันธ์ สายด่วน 1663 (สายให้คำปรึกษาปัญหา การตั้งครรภ์ไม่พร้อมทางโทรศัพท์) เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมาย และพัฒนาระบบการส่งต่อนักเรียนที่ ประสบปัญหาไปยังคลินิกวัยรุ่นเพื่อ แก้ปัญหาแต่แรกเริ่ม
ในส่วนของพื้นที่ อบต.ร่อนทอง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของบางสะพานที่มีสถิติ วัยรุ่นตั้งท้องสูง บุญยฤทธิ์ แดงรักษา ปลัด อบต.ร่อนทอง เปิดใจว่าในฐานะแกนนำท้องถิ่น เขาไม่สามารถปฏิเสธไม่รับรู้หรือ เพิกเฉยต่อปัญหาลูกหลานของตนเองได้ จึงชักชวนทั้งผู้ใหญ่ในชุมชนมาร่วมกันหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ "เยาวชนในพื้นที่" โดยเดินหน้าร่วมสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจัดโครงการอบรมความรู้เรื่องเพศแก่เยาวชนในสถานศึกษาและผู้ปกครอง นำร่องในโรงเรียนในสังกัดท้องถิ่น 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนขยายโอกาส 1 แห่ง และโรงเรียนประถม 2 แห่ง เน้นในกลุ่มเยาวชนตั้งแต่ชั้น ป.5 เพราะเชื่อว่า "เรื่องเพศยิ่งให้ความรู้เรื่องเพศยิ่งเร็ว เท่าไหร่ยิ่งดี"
แน่นอนว่างานที่ทำไม่ใช่ง่าย โดยเฉพาะการจะโน้มน้าวให้ผู้ปกครองเข้าใจว่า นี่ไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก ซึ่ง ปลัดบุญยฤทธิ์ ยอมรับช่วงแรกมีเสียงต่อว่าต่อขานไม่น้อย แต่ทีมงานก็ไม่ท้อถอย จนสุดท้ายผู้ใหญ่ในชุมชนเริ่มยอมรับแนวทางงานขับเคลื่อนของพวกเขา เมื่อเห็นจำนวนเด็กตั้งท้องลดลง
ขณะที่ "บูเกะตาโมเดล" เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาของการทำงานแบบมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภายในชุมชนที่ จ.นราธิวาส ซึ่งทีมงานเลือกขับเคลื่อนงานของปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไปพร้อมกับปัญหาด้านอื่นๆ ทั้งการทะเลาะวิวาท ความรุนแรง ยาเสพติด และสุขภาวะทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนและ สภาพแวดล้อมรอบข้าง
"บูเกะตาโมเดล" คือไอเดียที่โรงเรียนและชุมชนที่ร่วมคิดหาแนวทางแก้ปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนด้วยการร่วมกันออกแบบกิจกรรมบนความร่วมมือของชุมชน โดยการใช้บ้าน โรงเรียนและมัสยิด มาเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกัน
"นักเรียนก็ล้วนแต่เป็นลูกหลานของคนในชุมชน เราสอนให้นักเรียนที่จบออกไปสามารถประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีได้ นั่นก็เกิดจากความเข้มแข็งของชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม"
ปัจจุบันบูเกะตาโมเดลได้ขยายเครือข่ายออกไปมากมายถึง 109 โรงเรียน ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล ที่นำไปปรับใช้โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของบริบทในพื้นที่ตนเอง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ที่ทำหน้าที่เป็นข้อต่อที่ช่วยในการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายให้สามารถทำงานได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น
ส่วนที่ โรงเรียนปรียาโชต จ.นครสรรค์ ได้หลอมรวมพลังชุมชนเข้าร่วมจัดการปัญหา การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศในกลุ่มวัยรุ่น โดย ปาริชาติ ปรียายาโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้สะท้อนปัญหาผ่านเวทีเสวนาการสร้างความตระหนักและป้องกันปัญหาสุขภาวะทางเพศว่า ปัญหาวัยรุ่นหรือการท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่มาจากครอบครัวกลุ่มเปราะบาง เช่น ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวยากจน อยู่กับ ปู่ย่า ส่วนครอบครัวเข้มแข็ง อบอุ่น ปัญหาดังกล่าวจะเกิดจากปัจจัยแวดล้อม เช่น เทคโนโลยี เพื่อน แต่ก็จะนำไปสู่ปัญหาน้อย
"โรงเรียนมีเด็กที่มีปัญหาเหล่านี้ค่อนข้างมากเพราะเด็กที่มาเรียนในชั้น ม.1- ม.3 ส่วนมากเป็นเด็กด้อยโอกาสที่อยู่ภายในชุมชน ครูเองก็ต้องหาทางช่วยเหลือ ด้วยการเรียนการสอนให้เขามีความรับผิดชอบ และกิจกรรมที่ช่วยให้เขามองเห็นคุณค่าในตนเอง และการเข้าร่วมโครงการกับ สสส. ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้เป็นระบบมากขึ้น เริ่มจากการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องเพศที่ถูกต้อง และทำให้เขามองเห็นทางเดินอนาคตของตนเอง ซึ่งเด็กกลุ่มเสี่ยงบางคนสามารถเปลี่ยนได้ อีกทั้งยังมีการจัดอบรมนักเรียนแกนนำที่สามารถเข้าถึงและดึงเพื่อนออกมาจากปัญหาต่างๆ รวมถึงการประชุมผู้ปกครองให้รับทราบถึงปัญหา ที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางออกร่วมกัน"
อีกหนึ่งกลไกที่มีบทบาทสำคัญคือ "บุคลากรครู" ที่ โรงเรียนพรานวิบูลวิทยา จ.ศรีสะเกษ จึงสนับสนุนให้ครูเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องเพศในวัยรุ่น โดย คุณากร บุญสาลี รองผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า ครูจะต้องสร้างความเข้าใจและเปิดใจเรื่องเพศมากให้ขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะทำให้การทำงานประสบความสำเร็จง่ายขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาใช้แนวคิด "เข้าใจ เข้าถึง และช่วยเหลือ"
"ครูต้องรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นทั้งครูวิชาการและครูปกครองในเวลาเดียวกัน มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มีกลุ่มแกนนำเพื่อนวัยใสโดยมีกิจกรรมให้ทำทุกสัปดาห์ เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีการสร้างเครือข่ายแกนนำนักเรียนและแกนนำ ผู้ปกครองและออกเยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อรับข้อมูลที่ถูกต้อง นอกจากนั้นยังไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนซึ่งช่วย ลดปัญหาได้ในระดับหนึ่ง"
ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี หัวหน้าโครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่ายเพื่อส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษาเป็นวิธีการที่ประหยัด คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน โดยใช้หลัก 8 ด้านคือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ปัญหาร่วมติดตามประเมินผลและร่วมชื่นชม โดยมีโจทย์ของการทำงานคือ ลดปัญหาทางโภชนาการ ยาเสพติด เหล้าบุหรี่ สุขภาพทางเพศ และคุณภาพการเรียนรู้ ผลจากการทำโครงการทำให้โรงเรียนไม่โดดเดี่ยว มีเพื่อนเดิน ได้นวัตกรรมเรียนรู้กัน และ เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
อย่าลืมว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรไม่ใช่เรื่องที่เราจะโทษเด็กแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะปัญหานี้ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนในคนหนึ่ง แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดแนวทางแก้ไขและป้องกันที่ยั่งยืนต่อไป "เราควรยอมรับความจริงว่า เราไม่สามารถห้ามเขาได้อีกแล้ว"