แพทย์แนะฉีดวัคซีน ‘หัดเยอรมัน’ ก่อนเที่ยวญี่ปุ่น

ที่มา : MGR Online


แพทย์ยันเที่ยวญี่ปุ่นได้ แนะฉีดวัคซีนหัดเยอรมันก่อนไป thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมควบคุมโรค แจงคนไทยยังเดินทางไปญี่ปุ่นได้ เผยคนไทยส่วนใหญ่เคยฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันแล้ว แต่หากไม่เคยให้ฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง 2 สัปดาห์ ย้ำหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเดินทาง เหตุเชื้อทำทารกพิการได้ แนะคนกลับจากญี่ปุ่นสังเกตอาการ 21 วัน หากมีไข้ออกผื่น ควรพบแพทย์ ห้ามเข้าใกล้หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีออกประกาศเตือนการระบาดของโรคหัดเยอรมันในประเทศญี่ปุ่นว่า ตามปกติแล้วการเฝ้าระวังการเดินทางไปต่างประเทศ จะมี 3 ระดับ คือ 1.Travel Watch คือ ระดับจับตาดู สามารถเดินทางได้ตามปกติ 2.Travel Alert คือระดับการแจ้งเตือน ไม่ได้ห้ามการเดินทาง แต่มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติตนเมื่อเดินทางไป เช่น เหมือนการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้เหลือง ก็ไม่ได้ห้ามในการเดินทางไป แต่จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ เช่น มีการฉีดวัคซีนป้องกัน และ 3.Travel Warning คือ ระดับเตือน โดยคนที่มีความเสี่ยงมากควรเลี่ยงการเดินทางไป และมีข้อปฏิบัติสำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไป ซึ่งขณะนี้ไทยประกาศให้การเดินทางไปญี่ปุ่นอยู่ในระดับ 2 เท่านั้น คือ ไม่ห้ามการเดินทาง แต่หากจะไปต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ คนไหนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนก็ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน แต่หากเคยมีประวัติฉีดแล้วก็ไม่จำเป็น


"หลายคนกังวลโรคหัดเยอรมัน แต่ขอยืนยันว่า โรคหัดเยอรมันไม่ได้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง แต่บางกลุ่มอาจจะต้องระวัง คือ หญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการเดินทาง แต่สำหรับคนทั่วไปสามารถเดินทางได้ แต่จะต้องตรวจสอบประวัติก่อนว่าเคยฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ แต่หากไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันก่อน" นพ.สุวรรณชัย กล่าว


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป คร. กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีการป่วยโรคหัดเยอรมันอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้มีการป่วยเพิ่มขึ้นมาก โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ย. พบผู้ป่วย 184 ราย แต่วันที่ 19 ก.ย. เพิ่มขึ้นมาเป็น 362 ราย และช่วง ต.ค.ยังเพิ่มขึ้นอีก โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึง 14 ต.ค. 2561 มีรายงานผู้ป่วยโรคหัดเยอรมันในญี่ปุ่นถึง 1,468 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต กรมฯ จึงต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ประกอบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (US CDC) ได้เปลี่ยนระดับการเดินทางของคนอเมริกันที่จะไปญี่ปุ่นจากระดับ 1 มาเป็นระดับ 2 จึงต้องออกประกาศเตือนคนไทยเช่นกัน สำหรับพื้นที่ระบาดจะอยู่บริเวณเมืองหลวงของญี่ปุ่นคือโตเกียว เพราะมีประชากรหนาแน่นและบริเวณจังหวัดโดยรอบ


นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา คร. กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะโรคหัดเยอรมันส่งผลให้เด็กในครรภ์พิการได้ เกิดภาวะหัวใจรั่ว อวัยวะภายในไม่สมบูรณ์ แต่ความเสี่ยงนั้นพูดยาก เพราะขึ้นกับอายุครรภ์ด้วย โดยอายุครรภ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์จะเสี่ยงมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าอายุครรภ์อื่นจะไม่เสี่ยง ดังนั้น ขอให้หลีกเลี่ยเงดนทางไปพื้นที่ระบาดจะดีที่สุด คือ เมืองหลวงโตเกียว และรอบๆ เมืองโตเกียว แต่หากจำเป็นขอให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ ส่วนคนทั่วไปให้ฉีดวัคซีนป้องกัน 2 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง แต่หากเคยมีประวัติรับวัคซีนแล้วก็ไม่จำเป็น สำหรับคนที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่นก็ขอให้เฝ้าระวังสังเกตอาการไข้ออกผื่นภายใน 21 วัน หากมีอาการให้พบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง และระหว่างนี้ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก เพราะอาจส่งผ่านเชื้อได้ เนื่องจากเด็กเล็กจะเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน และมีไข้ออกผื่น ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาการจะรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ แต่ไม่ถึงกับพิการ ส่วนการติดต่อจะติดจากทางเดินหายใจ ด้วยการไอ จาม และจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง ซึ่งติดต่อง่ายกว่าไข้หวัดทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่โรคร้ายแรงจนต้องหวาดวิตก


นพ.ชนินันท์ สนธิไชย หัวหน้ากลุ่มพัฒนางานวัคซีนพื้นฐาน กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กล่าวว่า สถานการณ์โรคหัดเยอรมันของประเทศไทยลดลงต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยประมาณ 200 กว่ารายต่อปี โดยปี 2560 อยู่ที่ 261 ราย และตั้งแต่ต้นปี-25 ต.ค. 2561 ประมาณ 269 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุ 24-54 ปี อัตราชายและหญิงใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยประเทศไทยเริ่มให้วัคซีนในนักเรียนหญิงชั้น ป.6 ก่อน เมื่อปี 2529 หมายความว่า ผู้หญิงอายุ 44 ปีลงมาจะมีภูมิต้านทาน ขณะที่ปี 2536 ได้ขยายการให้วัคซีนในนักเรียนทั้งหญิงและชายชั้น ป.1 เท่ากับว่า คนไทยอายุ ต่ำกว่า 32 ปีลงมา จะมีภูมิต้านทาน ซึ่งภาพรวมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันครอบคลุมสูงกว่าร้อยละ 95 และหากใครฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 ครั้งจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 97 อยู่ได้ตลอดชีวิต โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ให้วัคซีนกับทารกทุกคน 2 เข็ม โดยเข็มแรกให้เมื่ออายุ 9 เดือน และเข็มที่สองให้อายุ 2 ขวบครึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2561 สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำว่า คนไทยที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น ขอให้มีการทำประกันสุขภาพการเดินทาง ซึ่งยังไม่เห็นคำแนะนำเพิ่มเติม

Shares:
QR Code :
QR Code