แพทย์ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วยลดจำนวนผู้ป่วย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
เเฟ้มภาพ
แพทย์รามาฯ คาด2สัปดาห์หลังใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินผู้ป่วยโควิด-19ลดลง แนะควรให้ประชาชนไม่สัมผัสกัน จะดีที่สุดออกจากบ้านได้เฉพาะตอนกลางวัน ให้สามารถซื้อของได้ และทำธุรกรรมเท่าที่จำเป็น งดออกจากบ้านยามวิกาล
เมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คาดว่าอัตราผู้ป่วยจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งอาจจะใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์ แต่เราต้องอดทน อัตราการแพร่กระจายจะค่อยๆ ลด แม้จะใช้เวลา แต่ลดแล้วจะดีมาก ในช่วงแรกๆ คงจะเท่าๆ เดิม และอาจจะลดลงมาเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายๆ วันต่อมา
อัตราการเพิ่ม และลดลง ของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ การแพร่กระจายของเชื้อ การคอนแทคของคน มาตรการ สภาพแวดล้อม เช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจจะมีผล แต่คิดว่าน่าจะลดลง ทั้งนี้ ความเข้มข้นของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ควรให้ประชาชนอยู่กับที่ ไม่ควรข้ามประเทศ ข้ามเมือง ข้ามบ้าน ควรจะอยู่บ้านใครบ้านมัน และไม่สัมผัสกัน จะดีที่สุด นอกจากนี้ ควรจะมีการจัดช่วงเวลาในการเดินทางออกจากบ้าน ควรงดการออกมาในยามวิกาล ออกจากบ้านได้เฉพาะตอนกลางวัน ให้สามารถซื้อของได้และทำธุรกรรมเท่าที่จำเป็น แต่ขอให้อดทน อย่างน้อยไม่ป่วยก็ยังดีกว่า
“ตอนนี้ อัตราการเพิ่มขึ้นของประเทศไทยที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับอิตาลี แม้ในวันนี้ (24 มีนาคม) ลดลงมาบ้าง แต่พรุ่งนี้เราก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะกลับไปสูงอีกหรือไม่ ดังนั้น ควรจะอยู่ในบ้านให้มากที่สุด” รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 โดยอิงตัวเลขผู้ป่วย เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่มียอดผู้ป่วยเพิ่ม 60 ราย โดยอธิบายว่าจำนวนผู้ป่วยเข้าใกล้อัตราเฉลี่ย 33% หากประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มของผู้ป่วย 33% ต่อวันต่อไป ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณสุข คือ ภายใน10 วัน(นับจากวันที่ 19 มี.ค.) จะมีผู้ป่วยเพิ่มประมาณ 5,000 คน และหากยังมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มอีก 33 % ต่อเนื่องจะเพิ่มเป็น 10,000 คนใน 14 วัน และภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) จำนวน จะมีประมาณ 351,948 ราย ผู้ป่วยที่ต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) จำนวน 52,792 ราย และผู้ป่วยวิกฤตภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) จำนวน 17,597 ราย
โดยขณะนั้นได้เสนอวิธีการจัดการไม่ให้เชื้อกระจายจึงต้องมีการล้อคดาวน์ทุกจังหวัดไม่ให้ประชาชนเคลื่อนย้ายจะช่วยกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ หากกักตัวเองได้ 14 วันจะช่วยลดการแพร่ของเชื้อได้ หากประชาชนหยุดอยู่กับที่ได้มากเท่าไหร่จะหยุดการแพร่กระจายเชื้อได้มากเท่านั้น
เนื่องจากมีความเป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ที่มีอยู่ รวม 37,160 คน พยาบาล 151,571 คน แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐ แพทย์ 29,449 คน พยาบาล 126,666 คน โรงพยาบาลเอกชน แพทย์ 7,711 คน พยาบาล 24,905 คน จะทำงานหนัก ที่สำคัญหากต้องรักษาผู้ป่วย-โควิดคนหนึ่งจะต้องใช้เครื่อง ช่วยพยุงปอด ต้องใช้แพทย์และบุคลากรถึง 10 คนเพราะฉะนั้นประชาชนทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ เพราะการป้องกันมีความสำคัญมากกว่าการรักษา
ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีน ซึ่งทุกวันนี้ที่กรมวิทยาศาสตร์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ได้ประมาณ 5,000 ราย รพ.รามาธิบดีตรวจได้ 1,200 ราย สถานพยาบาลอื่นๆประมาณ 1,000 และ 800 ตามขนาดของห้องปฏิบัติการขณะที่มีผู้มาตรวจมากกว่าเกินกำลังของห้องปฏิบัติการ หากว่าประชาชนสามารถอยู่บ้านไม่เดินทางจะช่วยป้องกันไม่ให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้