แผนยุทธศาสตร์ดื้อยาต้านจุลชีพ ผู้ป่วยลดกว่า 50%

ที่มา : คม ชัด ลึก


แผนยุทธศาสตร์ดื้อยาต้านจุลชีพ ผู้ป่วยลดกว่า 50% thaihealth


แฟ้มภาพ


แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ซึ่งมีการดำเนินการใน 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ การประมวลผลเบื้องต้นมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยับมาตรการดำเนินการของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนของการใช้ในคนและภาคเกษตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงถึง 50%


นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมระดับชาติว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพครั้งที่ 2 ว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance: AMR) เป็นวิกฤติร่วมของทุกประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยมี ผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณปีละกว่า 3 หมื่นคน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจถึงปีละ 40,000 ล้านบาท


รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศ ซึ่งการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาเกิดผลสำเร็จในหลายๆ ด้าน


โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพ ในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและสามารถช่วยชีวิตประชาชนที่ได้รับผล กระทบจากการดื้อยาต้านจุลชีพ พัฒนาระบบติดตามการใช้ยาต้านจุลชีพของประเทศไทยทั้งในคนและสัตว์ แก้ปัญหาเชื้อดื้อยาใน โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และขยายต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่นๆ และโรงพยาบาลเอกชน


ในภาคการเกษตร มีทั้งการลดใช้ยาต้านจุลชีพที่ไม่จำเป็นและไม่ใช้ยาต้านจุลชีพในการเลี้ยงสัตว์ เพื่อการบริโภค เพื่อให้เป็นทางเลือกต่อประชาชน  ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาเชื้อดื้อยา "เมื่อสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ในปี 2564 คาดว่าการป่วยจากเชื้อดื้อยาจะลดลงถึง 50% การใช้ยาต้านจุลชีพในคนและสัตว์จะลดลง 20% และ 30% ตามลำดับ รวมทั้งประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยา หลักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้น 20% และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในระดับสากล" นายสาธิตกล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code