แผนงานไอซีที ก้าวไปอีกขั้น จับมือกับเว็บไซต์ระดับโลกอย่าง google
เพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย
หวัด 2009 ยังแรง ระบาดแล้ว 207 ประเทศ สธ. – สสส.- ดีแทค –InSTEDD –Google-โอเพ่นดรีม ผนึกกำลังสู้ ยกเครื่องระบบรายงานโรคสุดไอเทคใช้โปรแกรมจีโอแชท ให้พื้นที่ส่ง SMS รายงานได้ทุกโรค รู้ผลนาทีต่อนาที
ที่โรงแรมสยามซิตี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะอนุกรรมการสนับสนุนป้องกัน ควบคุม และการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด (บริษัทดีแทค) องค์กร InSTEDD มูลนิธิกูเกิล ประเทศสหรัฐอเมริกา และ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ประเทศไทย ร่วมแถลงความร่วมมือในการจัดทำโครงการระบบสื่อสาร SMS เพื่อข้อมูลข่าวสารสุขภาพ และ การเฝ้าระวังโรคระบาด
นพ. มงคล ณ สงขลา ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก คาดว่าจะระบาดต่อเนื่องอย่างน้อย 1-3 ปี ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกมีการระบาดของโรคแล้วใน 207 ประเทศ มีผู้ป่วยยืนยันสะสมมากกว่า 650,000 ราย ผู้เสียชีวิตมากกว่า 8,768 ราย ส่วนไทยมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น รวมถึงมีผู้เสียชีวิต ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิบางพื้นที่ที่ลดลง ประกอบกับการรวมตัวของคนจำนวนมากในช่วงเทศกาล ขณะที่สถานการณ์การระบาดในต่างประเทศมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยในเขตเอเซียตะวันตก เอเซียกลาง และเอเซียใต้ ยังระบาดเพิ่มขึ้น ในเขตเอเซียตะวันออก บางประเทศเพิ่ม บางประเทศลดลง ทั้ง 6 หน่วยงานจึงร่วมกันสร้าง โปรแกรมจีอีโอแชท (GEO Chat) เพื่อให้การประมวลผลภาวะเจ็บป่วย เป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำ
นพ.ภาสกร อัครเสวี ผอ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โปรแกรมจีอีโอแชท (GEO Chat) จะใช้วิธีให้แต่ละจังหวัดส่งข้อความสั้นหรือ SMS ไปยังส่วนกลางคือกรมควบคุมโรค ซึ่งมีโปรแกรมประมวลผลและแยกข้อมูลออกมาเป็นรายพื้นที่ โดยขณะนี้ได้ทำการแจกซิมการ์ดให้ทุกจังหวัด เพื่อรายงานจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่ในอนาคตอาจปรับระบบให้รองรับการรายงานสถานการณ์โรคอื่นๆด้วย ซึ่งจะทำให้ติดตามสถานการณ์ได้แบบเรียลไทม์หรือตลอด 24 ชม. จากเดิมที่ต้องใช้เวลาประมวลผลจากทุกจังหวัดประมาณ 1 สัปดาห์ ทั้งยังสามารถปรับระบบให้ส่งข้อมูลได้ถึงระดับอำเภอ ตำบล ด้วย
มร. มาร์ค สโมลินสกี้ ผู้อำนวยการโครงการคาดการณ์และเฝ้าระวังโรคระบาด มูลนิธิกูเกิ้ล กล่าวว่า สิ่งที่กูเกิ้ลดำเนินการคือ สนับสนุนการทำงานของนักพัฒนาไอซีทีภูมิภาคเพื่อให้ทำงานร่วมกับสาธารณสุขในพื้นที่ได้อย่างสะดวก โดยการนำไอซีทีมาใช้ในการพัฒนาการเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อแจ้งเตือนประชาชน โดยเชื่อว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้จึงเป็นประโยชน์ด้านการเฝ้าระวังที่จะสามารถหน่วยงานต่างๆเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันถ่วงที ส่งผลดีให้ประชาชนตื่นตัวและป้องกันตัวเองได้
มร. อีริค รามูสเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์กร อินแสต็ด ผู้ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิกูลเกิ้ล ให้พัฒนาระบบไอซีทีเพื่อมาใช้ในการเฝ้าระวังโรคระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า มีการพัฒนาระบบในประเทศไทย 2 พื้นที่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ จ.มุกดาหาร และ จ.เชียงราย ซึ่งเชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ ประเทศเวียดนาม โดยพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศถือว่ามีความสำคัญ เพราะมีการเคลื่อนย้ายของประชากรและทำให้เกิดการระบาดข้ามประเทศได้ และพบว่าระบบการเชื่อมต่อข้อมูลทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับข้อมูลรวดเร็วมากขึ้น สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา บ.โอเพ่นดรีม จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาระบบร่วมกับ Instedd และ องค์กร google กล่าวว่า การปรับปรุงระบบทำให้ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลในส่วนกลาง ลดเวลาในการรอข้อมูลจากที่ต้องรอข้อมูลจากจุดต่าง 1 วัน เพื่อบันทึกสถิติเหลือเพียง 1 ชั่วโมง และลดการสื่อสารจากที่ต้องใช้โทรศัพท์ติดต่อกัน 120 ครั้งต่อวัน เหลือเพียง 7 ครั้ง ก็สามารถทราบข้อมูลได้ ทำให้การประสานงานกับทีมงานสาธารณสุขหรือเฝ้าระวังในพื้นที่ (Surveillance Rapid Respond Team-SRRT ) รวดเร็วยิ่งขึ้น
นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด (ดีแทค) กล่าวว่า การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2551 พบอัตราการใช้ของคนไทยมากถึง 77.6 % และมีสัดส่วนการใช้อินเตอร์เน็ต อยู่ที่ 20.3% ในปี 2552 แสดงให้เห็นว่ามีการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวาง การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีจึงทำให้การส่งข้อมูลโรคระบาดทำได้อย่างรวด เร็วและทันท่วงที เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างยิ่ง
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update: 28-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร