‘แปลงกายการ์ตูน : รูปทรง สีสันพืชพรรณเบิกบาน’
‘แปลงกายการ์ตูน : รูปทรง สีสันพืชพรรณเบิกบาน’
สมองของเด็กพัฒนาได้จากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยเฉพาะช่วงวัย 0-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อการฝึกฝนทักษะการใช้มือและนิ้ว เช่น การขีดเขียน การวาดภาพ ซึ่งมีส่วนช่วยให้สมองสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง เซลล์ประสาท ก่อให้เกิดการเรียนรู้และนำสู่การสร้างสติปัญญาให้กับเด็ก โดยปัจจุบันความเข้าใจในบทบาทและความสำคัญของการ์ตูนที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมองเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันการ์ตูนไทย และบริษัท นานมี จำกัด (สีตราม้า) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเก่งคิด เก่งวาด ตอน “แปลงกายการ์ตูน : รูปทรง สีสัน พืชพรรณเบิกบาน” ขึ้น ณ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สาขาจัตุรัสจามจุรี เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ พัฒนาสมอง สื่อสารทางความคิดสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะ และการวาดการ์ตูนที่ชี้ชวนให้เด็กๆ เห็นความงดงามของธรรมชาติ และถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานศิลปะ ก่อให้เกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ความเพลิดเพลิน รู้จักการจัดลำดับความคิดอย่างเป็นขั้นตอน มีสมาธิ และเกิดความภาคภูมิใจกับผลสำเร็จของตัวเอง อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างสติปัญญาที่ดีให้กับเด็กต่อไป
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและคร่ำหวอดในแวดวงศิลปะการวาดการ์ตูน คือ “ครูอ๋า” สิทธิพร กุลวโรตตมะ ผู้ริเริ่มหลักสูตรสอนศิลปะวาดการ์ตูน “เก่งคิด เก่งวาด”, วิทยากรและกรรมการสร้างสรรค์ของสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก ร่วมด้วย คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก และผู้จัดการแผนสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. มาให้ความรู้กับน้องๆ
นางวิมลพรรณ คำประชา รองผู้จัดการ ศูนย์หนังจุฬาฯ กล่าวว่า “ศูนย์หนังสือจุฬาฯ นอกเหนือจากการเผยแพร่ผลงานทรงคุณค่าของนักเขียนแล้ว เรายังมีนโยบายในการสร้างสังคมไทยให้เป็นแห่งเรียนรู้อีกด้วย โดยเฉพาะกับ “เด็กและเยาวชน” ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะ และพัฒนาศักยภาพต่างๆ ให้กับเด็กๆ มาโดยตลอด และกิจกรรม เก่งคิด เก่งวาด ตอน “แปลงกายการ์ตูน : รูปทรง สีสันพืชพรรณเบิกบาน” นี้ ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ร่วมกับสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการวาดการ์ตูนและงานศิลปะสำหรับเด็ก”
แน่นอนว่า “ศิลปะ” เป็นปัจจัยสำคัญโดยตรงในการเสริมสร้างจินตนาการให้กับเด็ก เพราะเด็กๆ ได้ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นรูปภาพตามที่ตนเองจินตนาการ แล้วศิลปะจะมีผลกับการเสริมสร้าง ทักษะ สมาธิ และความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กได้อย่างไร….?
“ครูอ๋า” สิทธิพร กุลวโรตตมะ วิทยากรคนเก่ง ได้บอกว่า “เด็กที่มาอบรมในวันนี้มีความตั้งใจในการวาดภาพ แต่เนื่องจากมีทั้งเด็กวัยอนุบาล ประถม หลากหลายช่วงอายุ ก็จะมีความแตกต่างในเรื่องของทักษะ สมาธิ เรื่องความเข้าใจของบทเรียนก็แตกต่างกันไป แต่ก็ทำให้เราได้เห็นภาพจากจินตนาการของเด็กๆ ออกมาหลากหลายรูปแบบด้วยครับ”
“เด็กบางคนจะเขียนรูปภาพโดยเส้นเป็นเส้นยุ่งๆ รกมาก คือเค้ายังไม่สามารถจัดระเบียบความคิด เค้ายังไม่รู้วิธีการเรียบเรียงเรื่องราวในสมองเค้า เพื่อกลั่นกรองมาเป็นเรื่องราวได้ ดังนั้นพอเห็นภาพวาดที่สวยๆ เส้นสวยๆ สีสวยๆ เค้าจะต้องนิ่งพอสมควร เค้าต้องมีมุมมอง มีสมาธิในการทำงาน สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นการช่วยพัฒนา eq ของเขาได้อีกทางหนึ่งด้วยครับ” ครูอ๋า กล่าวทิ้งท้าย
ลองมาฟังความคิดเห็นของน้องๆ ที่เข้าอบรมกันบ้าง โดย “น้องก้องซอ” เด็กชายณธรรศ เจริญใจ อายุ 6 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน บอกว่า “ผมชอบวาดรูปมากครับ วันนี้ผมได้วาดรูปต้นไม้ แล้วคุณครูก็ให้วาดวงกลมลงไปบนต้นไม้แล้วก็ให้พวกเราวาดต่อ ผมจึงวาดเป็นรูปรังนกฮูก คุณครูสอนเทคนิคการระบายให้ด้วย ผมชอบกิจกรรมวันนี้มากครับ และผมก็จะกลับไปฝึกฝนการวาดภาพระบายสีต่อที่บ้านด้วยครับ”
ด้านคุณแม่ของน้องก้องซอ คุณประไพพรรณ เจริญใจ กล่าวกับเราว่า “ปกติน้องชอบเรื่องการวาดภาพอยู่แล้ว ถนัดเรื่องของลายเส้น ในส่วนตัวของคุณแม่เองยังไม่คิดที่จะต่อยอดในเรื่องของการลงสีหรืออะไรที่มันยากกว่านี้ เพราะคุณแม่ต้องการให้เขาใช้จินตนาการในการวาด วันหนึ่งเขาจะวาดประมาณ 2-3 แผ่น เขาก็เก็บรวบรวมเป็นเล่มๆ อันนี้เป็นความชอบของเขา พอเขาไม่มีอะไรทำก็จะนำสมุดภาพที่เขาวาดมาเปิดดูเป็นประจำ คุณแม่มองว่าตอนนี้น้องใช้จินตนาการอย่างเดียวแต่หลักการของการวาดเส้นเขายังไม่มี คือถ้าน้องชอบแบบไหนก็จะจินตนาการล้วนๆ เลยคิดว่าการพาน้องเข้ามาอบรมในวันนี้น่าจะช่วยในเรื่องของเทคนิค ประสาทสัมผัสกับกล้ามเนื้อมัดเล็ก จินตนาการ ซึ่งจะต่อยอดให้เขาพัฒนาขึ้นในลำดับต่อไปได้ค่ะ”
“สำหรับเรื่องของวิชาการ คุณแม่มองว่าเราเรียนตามหนังสือได้ แต่เรื่องจินตนาการเราต้องอาศัยเรื่องของการฝึกฝนในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน ไม่มีตำราเล่มไหนที่จะมาบอกได้ว่าจินตนาการของเขาจะต้องเป็นมาตรฐานแบบนี้แบบนั้น จินตนาคืออะไรที่กว้างมาก คือว่ายังไงก็เป็นส่วนจำเป็นที่จะพัฒนาให้น้องมีจินตนาการที่กว้างขึ้น ซึ่งคุณแม่มองว่าศิลปะสามารถพัฒนาจินตนาการได้อย่างดีเยี่ยม อย่างที่ครูอ๋าบอกว่ามันเป็นอะไรที่ไม่มีถูกไม่มีผิด ศิลปะฝึกทั้งเรื่องของความมั่นใจ ฝึกเรื่องของความคิด อย่างวิชาการที่เด็กๆ เจอโจทย์ในโรงเรียนว่าข้อนี้คือถูกข้อนี้คือผิด แต่การวาดรูปมันไม่ใช่ มันได้หลายประโยชน์มาก คุณแม่มองอย่างนั้นค่ะ”
ส่วนหนูน้อยวัย 6 ปี “น้องเก็มมี่ เด็กหญิงกัลยากร รุ่งอมรชัย” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนพร้อมมิตรพิทยา เล่าว่า “หนูชอบวาดรูป แต่หนูไม่ถนัดเรื่องการระบายสี แต่วันนี้คุณครูอ๋า สอนเทคนิคการระบายสี ทำให้หนูเข้าใจ และคิดว่าการระบายสีไม่ได้เป็นเรื่องยาก หนูจะนำความรู้ที่ได้ในวันนี้ไปฝึกฝนต่อที่บ้านด้วยค่ะ”
คุณนภาพร วงศ์เลิศ คุณแม่ของน้องเก็มมี่ กล่าวถึงที่มาของการพาลูกสาวมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “อยากพาน้องมาร่วมกิจกรรมตั้งแต่ปีที่แล้วค่ะ แต่มาสมัครไม่ทัน ปีนี้พอทราบข่าวก็รีบตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมทันที เพราะสนใจมาก และคิดว่าเด็กวัยนี้จินตนาการมีมากมาย แต่ว่าเวลาเขาวาดรูปเขายังไม่รู้ว่าเขาต้องวาดแบบไหนและต้องระบายอย่างไรให้มันถูกต้อง ให้สวยงาม ส่วนตัวเราก็แนะนำเขาไม่ได้ เราก็เลยอยากให้เขามาดู มาศึกษาด้วยตัวเอง เพราะว่าถ้าเราบอกเขา เขาก็ไม่เชื่อ ต้องเป็นคุณครูบอกเขาจะเชื่อมากกว่า คุณแม่คิดว่าศิลปะจะช่วยในด้านจินตนาการและสมาธิ คิดว่าน่าจะเป็นแนวนี้ และมันก็จะส่งผลต่อไปในอนาคตข้างหน้า เวลาเขาทำงานเขาจะได้มีความคิดสร้างสรรค์ที่นอกเหนือจากรูปแบบที่ตายตัว”
การวาดรูปนั้นถือเป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่มีผลต่อความคิด และจินตนาการของเด็กโดยตรง เพราะฉะนั้น คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อลูกจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้เรียนรู้ เพราะไม่เพียงแต่เด็ก จะได้เปิดโลกจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ของตนเองแล้ว สิ่งที่จะได้รับตามมาก็คือรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจกับผลสำเร็จของตัวเอง อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างสติปัญญาที่ดีให้กับเด็กต่อไป