แบบอย่างพลังงานทางเลือกจาก ‘คลองลาน-โขงเจียม’
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ในภาคประชาชนกลุ่มเล็กๆ หลายแห่ง เลือกจัดการชีวิตของพวกเขาเองด้วยพลังงานทางเลือก โดยใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นตน
ในงาน สานพลังชุมชนเข้มแข็ง สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 ตามรอยพ่อ สานต่อปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งจัดโดย สำนักงานสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีหน่วยงานหลายแห่งได้นำเสนอแนวทางการสร้างพลังงานทางเลือกที่ตอบโจทย์ชุมชนเป็นอย่างดี
แก๊สชีวภาพจากมูลสุกร
กสิวัฒน์ ไล้ทองคำ หัวหน้าสำนักปลัด อบต.คลองน้ำไหล อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร บอกว่า เริ่มโครงการแก๊สชีวภาพจากมูลสุกรในปี 2552 จากการชักชวนของ อบต.กำแพงเพชร หลังจากนั้นรวบรวมข้อมูลแบ่งกลุ่มวางแผน เชิญทุกภาคส่วนมาร่วม อาทิ โรงเรียน อบต. แกนนำชุมชน พระสงฆ์ ฯลฯ โดยแบ่งงานเป็นสองส่วน คือ การอนุรักษ์ และสร้างพลังงานทดแทน
ด้านอนุรักษ์ เห็นว่าการใช้พลังงานในครัวเรือนฟุ่มเฟือยมาก ก็ทำโครงการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์พลังงาน ช่วงแรกจัดหน่วยรถเคลื่อนที่วิ่งวนในตำบล ซึ่งมี 28 หมู่บ้าน แจกแผ่นพับ ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านมีความรู้เรื่องการประหยัดพลังงาน การใช้ไฟฟ้า แก๊ส ต่อมาจัดอบรมให้ความรู้ การใช้เทคโนโลยี ให้เตาแบบต่างๆ ไปใช้
ช่วงแรกไม่ได้ผล บางครัวเรือนได้รับแล้วก็นำไปเก็บไว้ แต่ก็สร้างคนที่ทำเตาเป็นและเอาไปใช้ พอบ้านข้างๆ เห็น ก็อยากทำบ้าง เราสนับสนุนให้รวมกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกัน มีหลายกลุ่มเน้นการอนุรักษ์พลังงาน ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ชาวบ้านเลี้ยงหมูเยอะมาก มีมลพิษทางกลิ่น คนร้องเรียนมาก ก็คุยกันว่าจะทำอย่างไร จะแก้ปัญหากลิ่นจากมูลสุกร ได้ข้อสรุปว่าต้องทำบ่อหมักแก๊สชีวภาพ
ในการประชุมของคณะกรรมการชุมชนคลอง น้ำไหล เอาทุกปัญหาในชุมชนมาประชุมร่วมกัน และอาสาสมัครพลังงานตำบล ซึ่งกระจาย 28 หมู่บ้าน 30 กว่าคน เป็นเครื่องมือทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับ อปท. ทำงานร่วมกันต่อเนื่องโดยสำนักงานจังหวัดกำแพงเพชรมาให้ความรู้ จนปัจจุบันรวมทั้งไปให้ความรู้แก่นักเรียนระดับ ป.1-6 เอาความรู้เรื่องการประหยัด การผลิตพลังงานทดแทนไปให้ ติดตั้งบ่อในโรงเรียน ช่วงแรกนักเรียนนำมูลหมูจากบ้านมาใส่ที่บ่อ นานวันเข้ามีปัญหา โรงเรียนคิดว่าควรทำอย่างไร ก็เปลี่ยนมาใช้เศษอาหารใส่บ่อหมักแก๊สแทน ทำมาได้ปีเศษแล้ว
เรียนวิทย์จากแสงแดด
พระครูวิมลปัญญาคุณ วัดป่าศรีแสงธรรม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม กล่าวว่า สร้างโรงเรียนเมื่อปี 2553 คิดว่าทำอย่างไรให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงเรียนสูงสุด ตอนแรกสร้างอาคารด้วยดิน เมื่อมีคนบริจาคเงิน ก็นำมาสร้างโรงเรียน โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือเป็นโรงเรียนพึ่งตนเอง สร้างอาคารมาตรฐานราคา 18 ล้านบาท ใช้เงินที่ได้จากการทอดผ้าป่า ชาวบ้านทำบุญ รวมทั้งขายบ้านอีกสองหลัง เรียกว่างบฯ ที่สร้างโรงเรียนไม่ได้ใช้เงินราชการแม้แต่บาทเดียว
เด็กนักเรียนของที่นี่ เรียนฟรี มีอาหารกลางวันให้ โดยพระครูนำเด็กทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผัก ทำนา ทำปุ๋ยเอง เป็นการพึ่งตนเองด้านอาหาร อีกส่วนคือการศึกษาด้านพลังงาน เพราะไม่มีสื่อการสอนในโรงเรียน พระครูจึงนำเรื่องแสงแดดมาสอน เห็นว่าเป็นธรรมชาติใกล้ตัวสุดน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ก็เอาแผ่นโซลาร์เซลล์มาแกะ ทำไฟฉาย ที่ชาร์จแบตเตอรี่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ และส่งประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์ได้รางวัลมาตลอด นำมาสู่ชมรมพลังงานทดแทน จากเดิมสอนเรื่องพลังงานอย่างเดียว ตอนนี้ขยายเป็นโซลาร์เซลล์ ขนาด 30 กิโลวัตต์ ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้วันละ 40 หน่วย ใช้ตอนกลางวัน 30 หน่วย
"ใช้พลังงานขับเคลื่อนการศึกษา เขียนตำราให้เด็กทั่วประเทศ เอาวิชาโซลาร์เซลล์มาบรรจุในการสอน นักเรียน 29 คนสอบเข้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีละ 19, 10, 6 คน ตามลำดับ นักเรียนสอบติดมหาวิทยาลัยทุกคน บางคนเราส่งเรียนคณะวิศวะด้วย"
ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้มีหน่วยงานต่างๆ มาขอดูงานเป็นประจำ รวมทั้งหน่วยงานจากต่างประเทศ จนพระครูต้องระบุว่าขอเป็นวันศุกร์เท่านั้น เพราะครูมีน้อย และท่านต้องสอนหนังสือเด็กด้วย
ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า หากมีผู้นำที่ดี บวกความสามัคคีของชาวบ้าน เราสามารถสร้างชุมชนให้น่าอยู่ ในแบบที่ต้องการ ด้วยสองมือของเราเอง