แน่จริง…ต้องไม่ตกเป็นเหยื่อ
มองความต่างด้วยใจที่เปิดกว้าง ใช้สติแก้ปัญหาตามแนวคิดทางพุทธ
เช้าวันที่ 27 พฤศจิกายน คณะทำงาน dna (drink no alcohol) หรือที่มีชื่อไทยๆ ว่า ‘สายพันธุ์ใหม่ไร้แอลกอฮอล์’ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. และข้าพเจ้าตัดสินใจเดินทางโดยรถตู้มุ่งสู่จังหวัดภูเก็ต แทนการเดินทางทางอากาศในบ่ายของวันรุ่งขึ้น เพื่อไปพูดคุยกับเด็กๆ เยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการ
รวมทั้งพบกับชาวภูเก็ต เนื่องจากในวันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน จะมีรายการ ‘ธรรมะทอล์ค…กรุณาแห่งหัวใจ’ ระหว่าง พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) กับข้าพเจ้า และการทอดผ้าสามัคคีเพื่อร่วมสร้าง ‘สาวิกาสิกขาลัย’
ภูเก็ต ไข่มุกแห่งอันดามัน เป็นเมืองซึ่งนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกฝันที่จะได้มาเยือน แต่วันนี้ที่นี่กลับไม่ได้คลาคล่ำไปด้วยผู้คนเหมือนเช่นเคย ร้านอาหารเงียบ ถนนหนทางเหงา มีเพียงผู้คนพลเมืองในพื้นที่สัญจรไปมาตามปกติ โรงแรมที่เคยพลุกพล่านไปด้วยนักเดินทางไทยและเทศ บัดนี้ว่างโล่ง บรรยากาศของบ้านเมืองดูอึมครึม
แน่นอนส่งผลต่อเนื่องถึงกันเป็นลูก ไม่เฉพาะแต่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ส่งผลถึงจิตใจผู้คนอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ในท่ามกลางความอึมครึมคลางแคลง พี่น้องชาวภูเก็ตเคยมีน้ำใจอย่างไร ยามนี้ก็ยังงดงามอยู่ด้วยมิติทางจิตวิญญาณที่ยังไม่เหือดหาย ไม่จมอยู่กับความเครียดขึ้ง
กับสภาพความเป็นไปในขณะนี้ ทำให้ข้าพเจ้าหวนนึกถึงทฤษฎี 3 c ที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้เคยวิเคราะห์ให้ฟัง…
มีทฤษฎีทางสังคมซึ่งอธิบายเรื่องการแบ่งแยกกันในสังคม เรียกว่า ทฤษฎีตัวแทนทางสังคมหรือ social representation การแบ่งแยกนี้เป็นกระบวนการทางสังคม ที่พยายามจะสร้างความแตกต่างขึ้นมา ด้วยเรียกว่า 3 c…
c ที่ 1 ก็คือ ใช้การสื่อสาร communication ให้เห็นว่าการสื่อสารในสังคมเป็นการสื่อสารที่รุนแรง มีความแตกต่าง เช่น อุดมการณ์ทำให้ความแตกต่างเล็กน้อยค่อยๆ ใหญ่ขึ้นๆ วิธีการนี้ต้องอาศัย c
ตัวที่ 2 คือ ต้องใส่ content เข้าไปเป็นเนื้อหาในตัวอุดมการณ์ว่า ฝ่ายของตัวเองถูกหมด ฝ่ายของคนอื่นผิดหมด ตัว content ก็ยิ่งจะเพิ่มเติมให้ความแตกต่างทางอุดมการณ์เป็นเรื่องที่ใหญ่โตมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ เกิดจากกลุ่มนำซึ่งแต่ละฝ่ายจะมีสิ่งที่เรียกว่า c ที่ 3 consequence คือ แฝงไว้ด้วยเรื่องของความต้องการว่า จะให้สังคมเป็นไปในทางใด
ผลลัพธ์ก็คือ ทำให้สังคมมีความแตกแยกกันมากขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว ความแตกต่างเหล่านี้ไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น และเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น คนที่อยู่ในกลุ่มเดิมสมัยก่อนก็อาจเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน คนที่อยู่กลุ่มเดียวกันขณะนี้ วันหน้าก็อาจจะอยู่กันคนละกลุ่มก็ได้
แต่ในสถานการณ์ ณ จุดจุดหนึ่งเราจะรู้สึกว่ารุนแรง ความรุนแรงถ้าพูดในเชิงพุทธแล้ว คือมันออกมาจากความคิดของเราเอง ในฐานะชาวพุทธ ความน่ากลัวก็คือ ความรุนแรงในใจที่มันอาศัย 3 c แล้วทำให้เป็นความรุนแรงทางสังคม…
“ที่จริงแล้วความแตกต่างที่น่าจะสำคัญที่สุดในสังคม ก็คือ การมองความแตกต่างด้วยใจที่เปิดกว้าง ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ที่เราเรียกว่าเป็นเรื่องของสันติวิธี ถ้าเป็นแนวพุทธก็คือความมีสติ
ดังนั้น ตอนนี้สังคมไทยไม่ควรจะแบ่งแยก เราควรมองคนไทยด้วยกันอย่างมีสันติ แนวทางที่สันติ ไม่ว่าจะอยู่ในฝ่ายใดก็ดีทั้งสิ้น ทำให้สังคมไทยได้เปิดกว้างที่จะมองปัญหาอย่างมีปัญญา แนวทางที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด ก็ทำให้สังคมไทยปั่นป่วนทั้งสิ้น…
“อยากให้พวกเราได้มีโอกาสพิจารณาทั้งจากแนวคิดตะวันตก ที่ศึกษาจากสาเหตุของความขัดแย้งที่เป็น 3 c และแนวคิดทางพุทธ แล้วเรามาช่วยคิดกันว่าสังคมไทยเราจะคลี่คลายไปอย่างไร”
ทุกสิ่งในโลกนี้ไม่มีอะไรรอดพ้นจากกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ จะต่างกันก็แต่…เปลี่ยนแปลงช้า…หรือเร็ว ในสภาวการณ์ที่เผชิญอยู่นี้ เป็นธรรมดาที่ต้องมีความเครียด
แต่ในความเครียด…ต้องมีความหวัง คือขอให้เริ่มเปลี่ยนแปลงความคิดในใจตัวเองเสียก่อน โดยบอกกับตัวเองว่า ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่มองความจริงในปัจจุบันอย่างรู้เท่าทันว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ เราจึงจะกลับสู่สังคมอย่างไม่เครียด เพราะอย่างไรความเปลี่ยนแปลงย่อมมาถึง
ขอให้อยู่กับความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้นี้ด้วยตื่นรู้เท่าทัน ไม่หลงอารมณ์ ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ อารมณ์มา อารมณ์ไป ในหัวใจไม่มีที่อาศัยได้ของอารมณ์ ชีวิตก็จะรอด อยู่เย็นเป็นสุข พ้นทุกข์ร่วมกัน
การช่วยกันเจริญสติอารักขาจิต และทำงานด้วยทุนของชีวิต คือ จิตที่ไม่ขุ่นมัวกันต่อไป คือกิจที่ไม่ควรทอดธุระหรือมองข้าม
ด้วยว่าชีวิตที่มีอยู่จริงและรู้เท่าทันปัจจุบันขณะเช่นนี้ จึงจะเป็นชีวิตที่มีอิสรภาพอย่างแท้จริง
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update 03-12-51