แนะ “ถนนข้าวสาร” เล่นสงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์
สคล. ชี้ “ถนนข้าวสาร” กทม.ล้าหลังสุด เหตุเป็นถนนเดียว ไม่ยอมเข้าร่วมกิจกรรม ปลอดแอลกอฮอล์ ช่วงสงกรานต์ปีนี้ ขณะถนน “ตระกูลข้าว” 26 แห่ง ทั่วประเทศเข้าร่วมฯ ปกติ
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สคล. กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 7 ปี แล้วที่เครือข่ายร่วมรณรงค์ให้ทั่วประเทศค่อยๆ ขยายพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัย เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า “น้ำเมา” เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ อาชญากรรม รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบกับการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่านักท่องเที่ยวต้องการมาชื่นชมวัฒนธรรมที่ดีงาม มากกว่ามาดูคนเมา และในวันสงกรานต์เป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่มีวันหยุดต่อเนื่อง ในทุกปีหน่วยงานราชการจะมีการนับจำนวนผู้เสียชีวิตและอุบัติเหตุ ทั้งๆ ที่วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย เป็นวันที่มงคล
ภก.สงกรานต์ระบุว่า นับเป็นความโชคดีที่ปีนี้มี 66 จังหวัด 86 พื้นที่ 26 ถนนตระกูลข้าว ร่วมรณรงค์จัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้า และพร้อมขยายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจประชาชนในปี 2555 พบว่า 86.2% ของประชาชนเห็นด้วยกับมาตรการไม่ให้มีแอลกอฮอล์ในพื้นที่เล่นน้ำ และ 82.9% อยากให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศในช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ และปีใหม่
“ถนนข้าวสาร” เป็นถนนตระกูลข้าวถนนเดียว ที่ไม่ร่วมกิจกรรม สงกรานต์ปลอดเหล้า ปลอดภัย ตนจึงอยากจะฝากไปยังผู้ว่าฯกทม.ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ถนนข้าวสาร และถนนหลายสายใน กทม.ที่มีคนเล่นน้ำกันมากๆ จะเป็นพื้นที่ปลอดเหล้า ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อย่าปล่อยให้ล้าหลังกว่าจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศที่ทำได้แล้ว ส่วนธุรกิจน้ำเมา ควรจะมีจิตสำนึกที่ดี งดขายน้ำเมาในช่วงนี้ เพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่มีต้นเหตุมาจากแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ สคล.และเครือข่ายฯ ได้เสนอแนะ ให้ใช้ 7 มาตรการ กับพื้นที่ที่มีการจัดงานสงกรานต์ได้แก่
1. “นโยบาย” แต่ละพื้นที่ควรมีการประกาศนโยบายจัดงานปลอดเหล้า อย่างน้อยจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย สำหรับพื้นที่มีคนเข้ามาจำนวนมาก (zoning)
2. “ห้าม” ห้ามไม่ให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงาน
3. “ขอ” ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในบริเวณจัดงาน
4. “แลก” นำสินค้าพื้นบ้านหรือเครื่องดื่มสุขภาพมาแลกกับสุราที่อาจมีผู้นำเข้ามาในงาน
5. “ฝาก” มีจุดรับฝากแอลกอฮอล์ในจุดที่กำหนดไว้
6. “เฝ้า” เฝ้าระวังจุดเสี่ยงในพื้นที่จัดงาน
7. “สร้าง” การสร้างกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมพื้นที่สร้างสุขตามแบบแผนของวัฒนธรรมที่ดี
นอกจากนี้ ภก.สงกรานต์ ยังได้กล่าวถึงวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์คือ กระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีมาตรการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ ได้มีการเสนอให้ออกกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ในเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่องอย่างเช่น เทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ รวมทั้งการห้ามขายเครื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะ
“สงกรานต์ปีนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เอาจริงเอาจังต่อกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และถ้านึกสนุกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีจำนวนอุบัติเหตุผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บมากกว่าที่ผ่านๆ มาก็ได้” ผู้อำนวยการ สคล.กล่าวสรุป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ