แนะ ตักบาตรอาหารกระป๋อง เลือกสะอาด สภาพดี
ที่มา: กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ประชาชนที่นิยมตักบาตรพระสงฆ์ด้วยอาหารกระป๋อง ต้องเลือกกระป๋องสะอาด สภาพดี ไม่รั่วซึม ไม่เป็นสนิม สังเกต วัน เดือน ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุ เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัวนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การตักบาตรด้วยอาหารกระป๋อง เพราะหากอาหารกระป๋องไม่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานเกิดการปนเปื้อนเนื่องจากความไม่สะอาดถูกหลักสุขาภิบาลอาหารในกระบวนการผลิตและปนเปื้อนผ่านการชำรุดแตกรั่วของกระป๋องในขั้นตอนการขนส่งการเก็บรักษาที่ไม่ดี ทำให้กระป๋องเกิดสนิม เกิดช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่กระป๋องได้ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัม ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เจริญเติบโตได้เมื่ออยู่ในสภาวะไร้ออกซิเจนเท่านั้น เมื่อเชื้อนี้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างภายในกระป๋อง จะผลิตสารพิษโบทูลินัมขึ้นมา โดยผู้บริโภคไม่สามารถได้กลิ่นหรือสังเกตเห็นสีของสารพิษชนิดนี้ได้ แต่หากกินเข้าไปในปริมาณเล็กน้อย อาจส่งผลให้ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ตามัว จุกแน่นหน้าอก หายใจลำบาก แขนขาอ่อนแรงและเป็นอัมพาตได้ หากไม่รีบไปพบแพทย์อาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
“ทั้งนี้ ก่อนเลือกซื้อจึงควรเลือกกระป๋องที่อยู่ในสภาพดีและสังเกตลักษณะผิวกระป๋องที่ใช้บรรจุอาหารเรียบเป็นเงางามดีทุกด้าน โดยเฉพาะตะเข็บหรือรอยต่อของกระป๋องยังเรียบร้อย แน่นหนาดี ฝาหรือ ก้นกระป๋องแบนเรียบ ส่วนขอบกระป๋องจะเม้มลงตามรูปหรือตามแบบปกติ ไม่มีรอยรั่วซึม ไม่เป็นสนิม ไม่โป่งนูนเนื่องจากมีแรงดันของก๊าซที่เกิดจากการเน่าเสียของอาหารภายในกระป๋องและต้องดูฉลากสินค้าที่ผ่านการตรวจรับรองและมีเลขสารบบอาหารหรือตัวเลขหลังเครื่องหมาย อย. ที่สำคัญคือ ควรเลือกซื้ออาหารกระป๋องที่ผลิตใหม่ โดยสังเกต วัน เดือน ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุ กรณีผลไม้กระป๋องไม่ควรนำไปแช่เย็น เพราะหากแช่เป็นเวลานานๆ เป็นเดือน อาจทำให้กระป๋องเป็นสนิมได้ ทางที่ดีคือให้กินกับน้ำแข็งที่ ถูกหลักอนามัยเพื่อเพิ่มความเย็นจะดีกว่า” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว