แนะแรงงานต่างด้าวซื้อประกัน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


แนะแรงงานต่างด้าวซื้อประกัน thaihealth


แฟ้มภาพ


"อดุลย์" หนุนไอเดีย ให้แรงงานต่างด้าวซื้อประกันคุ้มครองเจ็บป่วย อุดช่องโหว่ระหว่างรอเข้าประกันสังคม


นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่าในการประชุมร่วมกับอธิบดีกรมแรงงานเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อธิบดีกรมแรงงานเมียนมาได้แสดงความห่วงใยกับแรงงานเมียนมาที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม ยังไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ระหว่างการเดินทาง จึงหารือกันว่าน่าจะมีการซื้อประกันภัยระยะสั้นๆ ซึ่งกรมการจัดหางานเห็นด้วยและเสนอให้ดำเนินการทำมาตั้งแต่ประเทศต้นทาง โดยให้เป็นแบบสมัครใจ ทั้งนี้เป็นเพียงการหารือกันเท่านั้น และยังไม่ทราบว่าทางการเมียนมาจะดำเนินการอย่างไรต่อ แต่ดูแล้วรัฐบาลเขาก็อยากทำ         


นายอนุรักษ์ กล่าวต่อว่า ได้นำเรียนเรื่องดังกล่าวให้กับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ทราบแล้ว ซึ่งในเรื่องของการทำประกันภัยแรงงานต่างด้าวนั้น รมว.แรงงานเห็นด้วยเพราะมองว่าที่ผ่านมาไม่มีอะไรคุ้มครอง อย่างไฟไหม้รถแรงงานต่างด้าวที่ อ.แม่สอด ก็ไม่ได้รับการชดเชย ดังนั้นคิดว่าควรมีประกันภัยระยะสั้นระหว่างรอเข้าระบบประกันสังคมของประเทศไทย ราคาค่าประกัน น่าจะไม่แพงมากเหมือนที่เวลาไปต่างประเทศ จะมีระบบประกันภัยการเดินทางซึ่งเป็นแบบสมัครใจเหมือนกัน คนไหนทำก็ได้รับการคุ้มครอง


อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะมียกเว้นแรงงานอยู่ 2 กลุ่มที่ไม่ได้เข้าประกันสังคม คือ คนรับใช้ตามบ้าน และประมงทะเล แต่ทั้ง 2 กลุ่มนี้ ก็จะมีการซื้อประกันสุขภาพกับ โรงพยาบาลอยู่แล้ว


ทั้งนี้ ไม่มีใครบังคับ เป็นสิทธิของผู้เอาประกัน หากสมัครใจทำได้ก็รับการคุ้มครอง เพราะฉะนั้นแรงงานต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าประกันภัยเอง ทั้งนี้เป็นการหยิบยกของทางเมียนมา ส่วนประเทศอื่นๆ ยังไม่ได้หารือ แต่คิดว่าน่าจะมีแนวคิดคล้ายๆ กัน อย่างไรตามคงไม่ได้จะหยิบยกมาเป็นเรื่องที่ต้องหารือร่วม 3 สัญชาติ


ทั้งนี้ผลการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศ หลังปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) พบว่ามีการทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบ 1,187,803 คน คิดเป็นร้อยละ 90 แบ่งเป็นกัมพูชา 350,840 คน ลาว 59,746 คน เมียนมา 777,217 คน และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ 113 ชุด เข้าตรวจสอบ การทำงานของทั้งนายจ้างมาตั้งแต่วันที่ 1-15 ก.ค.2561


โดยตรวจสอบนายจ้าง 1,623 ราย จับกุมดำเนินคดีแล้ว 156 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.61 และตรวจสอบแรงงานต่างด้าวแล้ว 30,111 คน จับกุมดำเนินคดีแล้ว 816 คน คิดเป็นร้อยละ 2.17 ส่วนใหญ่เป็นเมียนมา 415 คน กัมพูชา 267 คน ลาว 78 คน เวียดนาม 36 คน และสัญชาติอื่นๆ 20 คน และวางแผนตรวจสอบอีก 2 ครั้งในวันที่ 1-15 ส.ค. และวันที่ 1-15 ก.ย.นี้

Shares:
QR Code :
QR Code