แนะแท็กซี่-ผู้โดยสาร สวมหน้ากากอนามัย

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์


แนะแท็กซี่-ผู้โดยสาร สวมหน้ากากอนามัย thaihealth


แฟ้มภาพ


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หลายหน่วยงานออกมาตรการเฝ้าระวัง พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชน และสถานประกอบการ ปฏิบัติตามคำแนะนำซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัด แนะนำการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 สำหรับผู้ประกอบการแท็กซี่ หรือรถโดยสารไม่ประจำ รวมถึงรถตู้เช่า รถบัสเช่า รถเช่าที่สนามบิน และรถส่วนบุคคล


นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน จึงได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีกรุงเทพมหานครขอความร่วมมือจากประชาชน ภาคเอกชน และสถานประกอบการ ปฏิบัติตามคำแนะนำซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 สำหรับผู้ประกอบการแท็กซี่ หรือรถโดยสายไม่ประจำ (รถตู้เช่า, รถบัสเช่า, รถเช่าที่สนามบิน) ทั้งบริษัทและส่วนบุคคล ดังนี้


1. ด้านยานพาหนะ ควรดูแลความสะอาดสถานที่ให้บริการเช่ารถ โดยเฉพาะเคาน์เตอร์ที่ให้บริการเช่ารถ ห้องสุขา สถานที่จำหน่ายอาหาร ด้วยผงซักฟอกน้ำยาฟอกขาว หรือ 70% แอลกอฮอล์บ่อยๆ ควรทำความสะอาดยานพาหนะทุกเที่ยวหลังมีการให้บริการ เน้นการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวที่ผู้โดยสารสัมผัสบ่อยๆ เช่น ที่จับบริเวณประตู ที่จับเหนือหัวผู้โดยสาร แฮนด์มอเตอร์ไชค์ เบาะนั่ง ที่เท้าแขน กระจกภายในรถ โดยทำความสะอาดด้วยน้ำผงชักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาด และ 70% แอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ และควรจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจล เพื่อให้บริการแก่พนักงาน (ผู้ขับรถแท็กซี่) รวมถึงให้บริการผู้โดยสารด้วย


2. ด้านบุคลากร ผู้ประกอบการควรมอบหมายให้มีฝ่ายบุคคล หรือผู้รับผิดชอบงานด้านบุคลากร เพื่อทำหน้าที่ติดตามข่าวสาร เผยแพร่ความรู้และคำแนะนำในการปฏิบัติตนแก่บุคลากรในองค์กร ตรวจสุขภาพพนักงานผู้ให้บริการบนยานพาหนะประจำปี ขณะปฏิบัติงานผู้ขับขี่ประจำยานพาหนะควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และควรล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำสบู่บ่อยๆ สำหรับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ หรือรถยนต์ สามารถลดกระจกหน้าต่างลงเล็กน้อย เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก จัดหาสื่อความรู้ ประชาสัมพันธ์ และให้คำแนะนำการปฏิบัติตนเมื่อเจ็บปวย ให้แก่ผู้ขับขี่ประจำยานพาหนะ หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน สังเกตอาการป่วยของพนักงาน หากพบว่ามีอาการป่วย หรือสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อให้รายงานกับฝ่ายบุคคล เพื่อพิจารณาหยุดงานจนกว่าจะหายเป็นปกติ


3. ด้านการบริการ เมื่อพบผู้โดยสารมีอาการป่วย ไอ จาม หรือมีน้ำมูก ให้ขอความร่วมมือผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัย จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการลงมือ เช่น เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย เพื่อสำรองให้กับผู้โดยสารที่มารับบริการ (ถ้าเป็นไปได้) ในส่วนของผู้รับบริการ (ผู้โดยสาร) ควรจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจล เพื่อใช้สำหรับตนเองในระหว่างโดยสาร

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ