แนะเลือกใช้รถนั่งคนพิการให้เหมาะสม
ที่มา : ประชาสัมพันธ์กรมการแพทย์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ แนะประชาชนให้ความสำคัญรถนั่งคนพิการมีทั้งประโยชน์และโทษ เมื่อใช้ไม่ถูกตามวัตถุประสงค์หรือสภาพร่างกาย อาจกลายเป็นโทษและอันตรายต่อคนพิการได้
นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติพบว่า คนพิการที่ใช้รถเข็นนั่งมีจำนวนมาก เมื่อรวมประชากรผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ที่ส่งผลให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวกและต้องใช้รถเข็นนั่งเพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวร่างกาย จึงทำให้จำนวนผู้ใช้รถเข็นนั่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น รถนั่งคนพิการจัดได้ว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดังนั้น การพิจารณาประเภทรถเข็นนั่งที่เหมาะสมกับคนพิการต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าคนพิการบางส่วนยังใช้รถนั่งคนพิการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและสภาพแวดล้อมได้รับรถแล้วไม่นำไปใช้ ใช้รถเข็นไม่เป็น สภาพรถเข็นไม่ดี นั่งไม่สบาย เคยใช้แล้วตกจากรถส่งผลให้เกิดความกลัว นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นแผลกดทับเกิดจากผู้ป่วยนั่งรถเข็นนาน ดังนั้น จึงขอแนะนำให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาใช้รถเข็นนั่งคนพิการที่เหมาะสม
นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์การอนามัยได้กำหนดแนวทางที่สำคัญในการพิจารณารถนั่งคนพิการคือ 1.ต้องตรงตามความต้องการของคนพิการ เช่น ต้องการเคลื่อนที่ไปมาในบ้าน ไปโรงเรียน ไปทำงานออฟฟิศหรือต้องการออกไปในสวนหลังบ้าน 2.เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ใช้ เช่น บางคนนั่งทรงตัวได้ดี กำลังกล้ามเนื้อร่างกายส่วนบนแข็งแรง อาจเลือกใช้รถนั่งคนพิการที่มีความคล่องตัวสูง แต่บางคนนั่งเองไม่ได้จึงต้องการรถนั่งคนพิการที่มีอุปกรณ์เสริมช่วยประคองร่างกาย หากคนพิการไม่สามารถเข็นรถเองได้จำเป็นต้องมีคนช่วยเข็นให้ เช่น เด็กสมองพิการ เด็กพิการแขนขา ควรพิจารณารถนั่งคนพิการที่มีความมั่นคงสูง ไม่หงายหลังง่ายเพื่อให้มีความปลอดภัย และที่จับสำหรับเข็นมีความสูงพอให้คนช่วยเหลือสามารถเข็นได้ง่ายป้องกันการปวดหลัง 3.สภาพแวดล้อมที่คนพิการอาศัยอยู่ เช่น คนที่อยู่ในเมืองที่รอบบ้านเป็นคอนกรีต กับคนที่อยู่ในชนบทที่รอบบ้านเป็นพื้นดิน ย่อมต้องการรถนั่งคนพิการที่แตกต่างกัน ที่สำคัญคนพิการที่ได้รับรถนั่งคนพิการควรได้รับเบาะรองนั่งที่เหมาะสมด้วยทุกราย เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ปัญหาหลังคดหลังงอจากการนั่งผิดท่านาน ๆ และเบาะรองนั่งยังช่วยเพิ่มความรู้สึกสบายทำให้คนพิการนั่งได้นานขึ้นและสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่บนรถเข็นได้นานขึ้นด้วย แต่ปัจจุบันคนพิการมักไม่ได้เบาะรองนั่งพร้อมรถนั่งคนพิการ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น และนำไปสู่การไม่ใช้รถนั่งคนพิการอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการพิจารณารถนั่งคนพิการที่เหมาะสมแล้ว กระบวนการฝึกทักษะการใช้และการดูแลรักษาอุปกรณ์มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน