แนะเด็กต่ำกว่า 6 ขวบฟังเพลงช้า
พัฒนาเชาว์
เปิดผลวิจัย ชี้เด็กต่ำกว่า 6 ขวบฟังเพลงคลาสสิค ส่อแววฉลาดกว่าเด็กทั่วไป ขณะที่เด็กฟังแง่ลบส่งผลพฤติกรรมเลียนแบบ ด้านเครือข่ายครอบครัวหนุนรัฐบาลขอคืนพื้นที่ดีเพื่อเด็กและครอบครัว ผ่านรายการวิทยุของรัฐ 3 ชม./วัน
เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมวิทยุเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “ขบวนการคนตัวเล็ก กับก้าวต่อไปของวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว” โดยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กล่าวถึงนโยบายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ประกาศวาระเด็กแห่งชาติปี พ.ศ.2552
โดย “สนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น และผลักดันให้เกิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว และเป็นผลที่ทำให้เกิดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ คลื่น fm 105 mhz. เพื่อผลิตรายการวิทยุส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวมากขึ้น เป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย และก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว จนเกิดเครือข่ายสมาชิก “ขบวนการคนตัวเล็ก” เพื่อต่อยอดทำความดีให้สังคม
“รายการวิทยุเด็กควรแทรกอยู่ในรายการวิทยุทั่วไป ไม่ควรจำกัดเพียงรายการเฉพาะเด็กเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันให้เด็กเป็นตัวขับเคลื่อน ให้มีโอกาสร่วมทำงานในสื่อวิทยุด้วย เพราะผมเห็นด้วยกับการใช้สื่อวิทยุในการสร้างจินตนาการให้เด็ก ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชนอย่างแท้จริง แต่ยอมรับการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในวิทยุโทรทัศน์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคนสนใจอยากจะผลิตสื่อดีๆ ให้เด็กเยาวชน แต่เนื่องจากสร้างรายได้ยาก ฉะนั้นการที่ สสส. ช่วยกระตุ้นให้เกิดรายการสถานีวิทยุ มีรายการครอบครัวเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีต่อเด็กและเยาวชนไทยทั้งประเทศ หวังว่าคลื่นวิทยุที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้นต่อไป” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าว
พญ.ชนิกา ตู้จินดา ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลสำคัญต่อเด็ก เยาวชน และคนในสังคม ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการนำเสนอเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง อยากฆ่าตัวตาย ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบของเยาวชนมาแล้ว ขณะที่สื่อที่มีเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ในรายการโทรทัศน์เพียง 5% และรายการวิทยุ มีเพียง 1% เท่านั้น ทั้งที่เด็กและเยาวชน มีมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ
“กาย ใจ อารมณ์ สังคม ปัญญา เป็น 5 ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเด็ก ซึ่งสื่อวิทยุสามารถตอบสนองพัฒนาการทั้ง 5 อย่างได้เต็มที่ เพราะการฟังต้องคิด และสร้างจินตนาการตาม ทำให้เด็กเกิดพัฒนาได้เร็ว การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ผ่านสื่อให้กับเด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง เพราะเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กที่ฟังดนตรีตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 6 ปี จะฉลาดกว่าเด็กทั่วไป เพราะดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาเชาว์ปัญญาในเด็กเล็ก โดยเฉพาะการฟังดนตรีคลาสสิคหรือดนตรีที่มีจังหวะช้าๆ ฟังสบาย แต่ถ้าเด็กฟังรายการหรือดนตรีที่ไม่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะเด็กเล็ก เมื่อโตขึ้นจะสายเกินไปในการรับรู้เรื่องของความดีกับสิ่งที่ไม่ดีของดนตรี ซึ่งรายการวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัวถือเป็นช่องทางหนึ่งในการนำเสนอเนื้อหา ที่หลากหลายของเด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง” พญ.ชนิกา กล่าว
นางสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้ดำเนินรายการพ่อแม่มือใหม่หัวใจเกินร้อย fm 105 mhz. กล่าวว่า จากผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีต่อสถานีวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว fm 105 mhz. ในกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 6-60 ปีขึ้นไป จำนวน 535 คน ระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม 2553 พบว่า สื่อวิทยุยังคงได้รับความนิยม โดยกลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 61% ยังคงรับฟังรายการวิทยุ ซึ่งกลุ่มคนที่ฟังรายการวิทยุมากที่สุดคือ กลุ่มวัยครอบครัว (40–49 ปี) คิดเป็น 82% ตามด้วยกลุ่มวัยทำงาน (20-29 ปี) คิดเป็น 70% ส่วนกลุ่มเยาวชน (13-20 ปี) ฟังรายการวิทยุ 56% และกลุ่มเด็ก (6-12 ปี) ฟังรายการวิทยุ 44%
นางสรวงมณฑ์ กล่าวว่า ในบรรดาผู้ที่เปิดรับฟังรายการวิทยุทั้งหมด พบว่า มีผู้ที่เคยฟังรายการของสถานีวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว fm 105 mhz. อยู่มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38% กลุ่มที่ให้ความสนใจ คือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีครอบครัวแล้ว และผู้สูงอายุ โดยกลุ่มรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ รายการสถานีครอบครัว รายการรอบวันทันข่าว รายการอารมณ์ดียามเช้า รายการสวัสดีประเทศไทย และรายการครอบครัวคุยกัน เนื้อหาที่อยากให้นำเสนอมากที่สุดคือ ความรู้รอบตัว รองลงลงมาคือ การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม และการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ ส่วนความคาดหวังของกลุ่มผู้ฟังคือ ได้รับความรู้ใหม่ๆ ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมทั้งการได้รับความบันเทิงและผ่อนคลายความเครียด ตามลำดับ
นางสรวงมณฑ์ กล่าวว่า จากการดำเนินการผลิตรายการวิทยุเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ผ่านคลื่นวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว fm 105 mhz. พบว่า มีเด็กและครอบครัวจำนวนมากเกิดการเรียนรู้ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ดังนั้นเพื่อให้เด็กและครอบครัวทั่วประเทศได้มีพื้นที่เรียนรู้ผ่านสื่อวิทยุ และเกิดพัฒนาการที่ดี จึงขอให้รัฐบาลคืนพื้นที่ดีในการสร้างการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัว ผ่านรายการวิทยุในสถานีวิทยุของรัฐทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่น้อยกว่าวันละ 3 ชั่วโมง รวมถึงการจัดอบรมพัฒนาผู้จัดรายการวิทยุทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีความต้องการทำรายการสร้างการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวในจังหวัดต่างๆ โดยประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง
ที่มา : แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)
update : 20-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร