แนะสูบบุหรี่เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

ที่มา : ข่าวสด


/แนะสูบบุหรี่เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ


แฟ้มภาพ


การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทั้งผู้ชายและผู้หญิง เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดอื่นๆ รวมถึงโรคเส้นเลือดสมอง


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า บุหรี่เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดอื่นๆ รวมถึงโรคเส้นเลือดสมอง ซึ่งรวมกันแล้วเป็นสาเหตุการเสียชีวิตระดับต้นๆ ของโลก บุหรีส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ ทำให้หัวใจเต้นเร็วและความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในควันบุหรี่มีสารพิษหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและหัวใจ ได้แก่ นิโคติน คาร์บอนไดออกไซด์ ทาร์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และไฮโดรเจนไซยาไนต์ ผู้สูบบุหรี่แต่ละรายจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคจากบุหรี่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นกับระยะเวลาที่สูบ ปริมาณที่สูบ ลักษณะพันธุกรรม การมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย


"สำหรับคนที่ไม่สูบบุหรี่หากได้รับควันเข้าไปจะทำให้เกิดโทษเหมือนกับคนที่สูบบุหรี่ได้  การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทั้งผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้น การไม่สูบบุหรี่จะเป็นการลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ที่สำคัญที่สุด และในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว การเลิกสูบบุหรี่จะเป็นการลดอัตราการเกิดโรคซ้ำและลดอันตรายได้" นพ.สมศักดิ์กล่าว


นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเมื่อรู้สึกอยากสูบบุหรี่ ควรประวิงเวลาออกไปเรื่อยๆ อย่าสูบบุหรี่ทันทีที่อยากสูบ ดื่มน้ำหร้อล้างหน้าทันทีเมื่อรู้สึกหงุดหงิด สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ และช้าๆ ทำเช่นนี้ 2-3 ครั้งจะรู้สึกผ่อนคลาย ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือหากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากบุหรี่ ผลดีของการเลิกบุหรี่ 1. 15 นาที หัวใจเต้นช้าลง 2. 12 ชั่วโมง ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงสู่ภาวะปกติ 3. 14 วัน ระบบไหลเวียนดีขึ้น หายใจโล่งขึ้น รู้สึกสดชื่น 4. 1 ปี ความเสี่ยงโรคหัวใจวายลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ 5. 5 ปี ความเสี่ยงโรคสมองลดลง 50 เปอร์เซ็นต์


นพ.เอนกกล่าวต่อว่า การเลิกบุหรี่ไม่ยากอย่างที่คิด เพียงหาเหตุจูงใจที่จะเลิก เช่น มอบเป็นของขวัญกับคนที่เรารักในโอกาสสำคัญ เตรียมตัวให้พร้อม กำหนดวันที่แน่นอน บอกคนที่เรารักเพื่อเป็นกำลังใจ ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด หากิจกรรมต่างๆ ทำ เช่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬา ยืนยันการเลิกบุหรี่ โดยการทิ้งอุปกรณ์การสูบบุหรี่ หรือรับคำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ โดยวิธีหักดิบ ค่อยๆ ลดจำนวนจนเลิกการสูบได้อย่างถาวร หรือรับประทานยาช่วยเลิกบุหรี่โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแล

Shares:
QR Code :
QR Code