แนะสังเกตอาการ’ โรคฉี่หนู’ หลังพบผู้ป่วย 1,459 ราย

กระทรวงสาธารณสุข เตือนปีนี้พบผู้ป่วยโรคฉี่หนู 1,459 ราย เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากโรค เพราะโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ประชาชนจึงต้องป้องกันดูแลตนเองไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดโรงพยาบาลดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ที่สร้างขึ้นใหม่เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอดอนจาน ที่ยกฐานะใหม่ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 ใช้งบประมาณกว่า 9.9 ล้านบาท และเปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ประเทศไทยทั่วทุกภาคมีฝนตกต่อเนื่อง โรคที่พบได้บ่อยและมีอันตรายถึงแก่ชีวิต คือ โรคเลปโตสไปโรซิส (leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นของไทย พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน โดยสถานการณ์โรคฉี่หนูในปี 2556 ตั้งแต่มกราคม -11 สิงหาคมทั่วประเทศ พบผู้ป่วย 1,459 ราย เสียชีวิต 13 ราย พบผู้ป่วยมากสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 835 ราย เสียชีวิต 7 ราย รองลงมาภาคใต้ 376 ราย เสียชีวิต 6 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ 1.พังงา 2.ระนอง 3.เลย 4.สุรินทร์ และ 5.กาฬสินธุ์ โดยที่กาฬสินธุ์ปี 2556 นี้ พบผู้ป่วย 72 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า โรคดังกล่าวมักพบในเกษตรกรที่ทำงานในไร่นา รองลงมาผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง และผู้ที่ต้องสัมผัสน้ำขังดินโคลนแฉะบ่อยๆ ซึ่งอาจสัมผัสเชื้อที่อยู่ในฉี่ของหนูที่เจือปนอยู่ในน้ำท่วมขัง ดินโคลนที่ชื้นแฉะ หรือจากหนูที่เข้ามาอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน หรือในที่ทำงานได้ ขณะนี้ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากโรค เพราะโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ประชาชนจึงต้องป้องกันดูแลตนเองไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยรักษาความสะอาดบ้านเรือน ภาชนะใส่อาหาร น้ำดื่ม สวมถุงมือขณะทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน และเก็บอาหารให้มิดชิดในภาชนะที่มีฝาปิดไม่ให้หนูมาฉี่รด เป็นต้น

“สิ่งสำคัญต้องรู้จักสังเกตอาการเจ็บป่วย หากมีไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่องขา โคนขา ตาแดง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง อย่าซื้อยากินเอง โรคนี้มียาปฏิชีวนะรักษาหายขาด สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่จากการมาพบแพทย์ช้า ทำให้เชื้อโรคลุกลามไปทำลายอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดไตวาย สมองอักเสบ” ปลัด สธ.กล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code