แนะวิธีเก็บยาไม่ให้เสื่อมคุณภาพ
“รักษาการ ผอ.องค์การเภสัชกรรม” แนะอย่าเก็บยาไว้ในที่ร้อนหรือโดนแสงแดด ระบุทำยาเสื่อมคุณภาพเร็ว ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้
ภญ.วนิชา ใจสำราญ รักษาการผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ปกติคนทั่วไปเมื่อมีอาการไม่สบายจะไปโรงพยาบาล เพื่อพบแพทย์ให้ทำการตรวจรักษา เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคแล้วก็จะสั่งการรักษาตามขั้นตอน และได้รับยากลับมาใช้ที่บ้านตามอาการที่เป็น เภสัชกรโรงพยาบาลจะอธิบายในรายละเอียดของยา เช่น ชื่อยา, วิธีใช้, สรรพคุณของยาแต่ละชนิด, ผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ และวิธีเก็บรักษา แต่ด้วยความเร่งรีบของผู้ป่วย อาจจะฟังไม่ละเอียด มีผลให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องครบถ้วน
ดังนั้นข้อควรระวังและไม่ควรกระทำเมื่อรับยาจากโรงพยาบาล ได้แก่ ไม่วางยาไว้ในรถ เพราะอุณหภูมิในรถสูงกว่าอุณหภูมิห้องปกติ (15-30 องศาเซลเซียส) อาจสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้ยาเสื่อมสภาพ คุณสมบัติในการรักษาลดลงหรือเสียไป ทำให้สิ่งที่เหลืออยู่อาจเป็นสารอื่นที่นอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว อาจเกิดโทษได้ หรือแม้ถ้ายังคงมีเปอร์เซ็นต์ของยาอยู่บ้างก็น้อยกว่าขนาดที่จะให้ผลในการรักษาได้ ยาบางชนิดจะหลอมละลายเมื่อถูกความร้อน เช่น ยาเหน็บทวารหนัก เป็นต้น
นอกจากอุณหภูมิที่สูงเกินไปแล้ว ยาหลายชนิดที่ต้องเก็บแบบป้องกันแสงโดยเก็บในภาชนะทึบแสง เช่น ขวดสีชา แต่การวางไว้รับแสงโดยตรงเป็นเวลานาน แม้จะอยู่ในภาชนะดังกล่าวก็เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนสภาพของยา ทำให้ยาหมดอายุเร็วขึ้น ตัวอย่างยาที่ต้องป้องกันแสง เช่น วิตามินบี 6, วิตามินเอ, ยาพวกฮอร์โมน,ยาคุมกำเนิด, ยาน้ำเชื่อมของเด็กหลายชนิด, ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
ภญ.วนิชา กล่าวต่อไปว่า หากนำถุงยาวางไว้ที่โต๊ะอาหาร ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก เพราะยาของผู้ใหญ่หากเด็กนำไปรับประทานโดยไม่เจตนา ก็ทำให้เกิดผลเสียได้ เนื่องจากขนาดยาของผู้ใหญ่กับเด็กแตกต่างกัน ยาที่ต้องเก็บโดยการแช่เย็น การแช่เย็นมีหลายแบบ คือ แช่ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยบรรจุในภาชนะที่มิดชิด เพื่อไม่ให้ชื้นจนฉลากยาหลุดหรือลบเลือน จนไม่สามารถอ่านได้ และให้ปลอดภัยจากการที่เด็กจะนำไปรับประทานได้ และทุกครั้งเมื่อใช้ยาแล้วปิดภาชนะบรรจุให้มิดชิด เพื่อป้องกันความชื้นในอากาศ หรือเกิดอุบัติเหตุหกเลอะเทอะเมื่อต้องการใช้ในครั้งต่อไป
รักษาการผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ที่สำคัญควรดูวันหมดอายุของยาด้วย โดยให้สังเกตที่ฉลากซึ่งจะระบุวันหมดอายุ (EXP. DATE) เอาไว้ ยาต่างชนิดอายุไม่เท่ากันให้สังเกตให้ละเอียด หากไม่เข้าใจสามารถสอบถามได้จากเภสัชกรทั้งในโรงพยาบาลที่ไปรับการรักษา หรือเภสัชกรที่ประจำอยู่ที่ร้านขายยาทุกแห่ง และควรสำรวจปริมาณยาที่มีอยู่ในบ้านด้วยว่า มียาดังกล่าวเก็บไว้จำนวนเท่าไร และไม่ควรเก็บยาไว้นานจนเกินไป
ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต