แนะรีบรักษาแผลอักเสบจากน้ำท่วม
ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” จัดทำคำแนะนำการดูแลสุขภาพป้องกันการเจ็บป่วยเบื้องต้น 40,000 ชุด ให้อสม.แจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยทุกพื้นที่ แนะผู้ที่มีบาดแผลหรือผิวหนังเริ่มเปื่อย น้ำกัดเท้า เกิดผื่นคัน อย่าปล่อยให้ลุกลาม ควรรีบไปรับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มเป็น หากรายใดบาดแผลอักเสบเป็นหนอง หรือมีไข้ขึ้นฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและน่อง ให้รีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแจ้งอสม.ใกล้บ้านทันที เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสถานพยาบาลและการสนับสนุนภาคประชาชนของกรมสบส.ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า กรมสบส.ได้จัดทำแผนฟื้นฟูชุมชนและดูแลสุขภาพประชาชน โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ซึ่งมีทุกหมู่บ้านที่ประสบภัยหมู่บ้านละ 10-15 คน เป็นแกนหลักดำเนินการในพื้นที่ ซึ่งกรมสบส.ได้จัดทีมนักวิชาการด้านสุขศึกษาและสุขภาพภาคประชาชนจากส่วนกลางจำนวน4ทีมลงสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขตที่จังหวัดราชบุรี นครศรีธรรมราชและสงขลา
ซึ่งดูแลพื้นที่ในภาคใต้ทั้งหมดทั้งในระยะที่มีน้ำท่วมขังและภายหลังน้ำลด เน้นหนักการป้องกันการเจ็บป่วยให้ได้มากที่สุด โดยกองสุขศึกษาได้จัดทำเอกสารคำแนะนำการดูแลสุขภาพ เช่น ความรู้การป้องกันไฟฟ้าดูด คำแนะนำการดูแลสุขภาพ การป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมเช่นโรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคฉี่หนูเป็นต้น การทำความสะอาดบ้านเรือน ในเบื้องต้นได้จัดพิมพ์ 40,000 ชุด ขณะนี้ได้ทยอยส่งให้อสม.นำไปแจกให้ประชาชนแล้ว
“จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่ตำบลกำเนิดนพคุณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบเรื่องที่น่าห่วงขณะนี้คือเรื่องบาดแผล ประชาชนมีบาดแผลทั้งจากน้ำกัดเท้า ถูกของมีคมบาดหรือรอยขีดข่วนจากวัสดุที่ลอยมากับน้ำ จึงขอแนะนำประชาชนล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเดินย่ำน้ำหรือถูกน้ำสกปรก และเช็ดด้วยผ้าสะอาดให้แห้งโดยเฉพาะตามง่ามนิ้วเพื่อไม่ให้อับชื้น หากเห็นผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดผื่นคัน น้ำกัดเท้าหรือมีบาดแผล ขอให้ไปรับการรักษาตั้งแต่ต้นที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่อยู่ใกล้ เพื่อไม่ให้อาการลุกลาม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ขอให้ระมัดระวังดูแลเป็นพิเศษ
เนื่องจากบาดแผลจะอักเสบติดเชื้อง่าย และหากมีอาการดังต่อไปนี้คือ บาดแผลเกิดการอักเสบ ซึ่งแผลจะมีลักษณะบวมแดง เป็นหนอง หรือมีไข้ขึ้นเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง ขอให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแจ้ง อสม.ในหมู่บ้านโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งกรม สบส.ได้ให้ อสม.เผยแพร่ความรู้ประชาชนในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องแล้ว” นายแพทย์ประภาสกล่าว
นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อไปว่า ในการดูแลสุขภาพป้องกันโรคและภัยสุขภาพในช่วงน้ำท่วมขังและภายหลังน้ำลด ขอให้ผู้ประสบภัยปฏิบัติ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ดูแลรักษาร่างกายให้สะอาด สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและไม่อับชื้น เพื่อให้ร่างกายมีความอบอุ่นอยู่เสมอ ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร ภายหลังขับถ่ายหรือหยิบจับของสกปรก ล้างเท้าให้สะอาดหลังเดินย่ำน้ำ อย่าใช้มือขยี้ตาหรือใช้ผ้าสกปรกเช็ดตา และระมัดระวังไม่ให้น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา 2. ช่วยกันลดความสกปรกหรือความเน่าเสียน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดโรคระบาด โดยห้ามถ่ายอุจจาระหรือทิ้งขยะเศษอาหารลงน้ำ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงส้วม หากส้วมใช้การไม่ได้ ขอให้ถ่ายใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปิดปากถุงให้แน่น นำไปใส่ถุงขยะเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ทิ้งเศษอาหารเศษขยะลงในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้มิดชิดเพื่อป้องกันแมลงวันตอม
3. รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน ปิดอาหารให้มิดชิดเพื่อป้องกันแมลงวันตอม ล้างผักสด ผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน ดื่มน้ำสะอาดเช่นน้ำบรรจุขวด น้ำต้มสุก และล้างภาชนะที่ใส่อาหารและน้ำให้สะอาด ตากแดดหรือผึ่งให้แห้ง เก็บไว้ในที่สะอาด และ4.จัดสิ่งของในบ้านให้เป็นระเบียบ สะอาด ป้องกันสัตว์มีพิษต่างๆเข้ามาอยู่อาศัย