แนะยึดหลัก 3 ป.ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ที่มา : กรมควบคุมโรค
เเฟ้มภาพ
28 กันยายน 65 วันพิษสุนัขบ้าโลก สคร.7 จ.ขอนแก่น แนะยึดหลัก 3 ป.ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า องค์กรรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าโลก กำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วโลก รู้ถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มียารักษา หากป่วยแล้วจะเสียชีวิตทุกราย ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละ 49,000 ราย โดยร้อยละ 40 เป็นเด็ก
โรคพิษสุนัขบ้า เกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ในประเทศไทยพบมากที่สุดในสุนัข แมว และโค ติดต่อได้ด้วยการถูกสัตว์ที่มีเชื้อ กัด ข่วน หรือเลีย เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเดินทางไปตามเส้นประสาท เข้าสู่สมอง และเมื่อแสดงอาการแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เสียชีวิตทุกราย
สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2564 ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต 3 รายใน 3 จังหวัด (จังหวัดสุรินทร์ 2 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ 1 ราย) สำหรับในปี 2565 นี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มี.ค. 65) พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย ที่จังหวัดชลบุรี โดยได้รับรายงานเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประวัติสัมผัสกับสุนัขของเพื่อนบ้านที่นำมาฝากเลี้ยงข่วน
นายแพทย์สมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้ประชาชนยึดหลัก 3 ป. ได้แก่
1) ป้องกันสัตว์เป็นโรค โดยการนำสัตว์ไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี รวมไปถึงทำหมันถาวรเพื่อไม่ให้มีสุนัขมากเกินความต้องการ และหากสัตว์เลี้ยงตายผิดปกติ ขอให้ส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อ ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ
2) ป้องกันการถูกกัด โดยไม่ปล่อยสุนัขแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดด้วยคาถา 5 ย. คือ 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ
3) ป้องกันหลังถูกกัด ด้วยการล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ อย่างเบามืออย่างน้อย 10 นาที จากนั้น ใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อพิจารณาการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหากได้รับวัคซีนต้องฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด พร้อมทั้งกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เน้นย้ำ “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ”