แนะพบเห็นขายเหล้าบนทางเท้า แจ้ง 1555

 

กทม. แนะพบเห็นขายเหล้าบนทางเท้า แจ้งสำนักงานเขตหรือกรุงเทพมหานครผ่านหมายเลข 1555 ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าจากกรณีมีผู้พบเห็นการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณทางเท้าหน้าห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางเท้าเสี่ยงต่อการเปิดอุบัติเหตุจราจรจากการเมาแล้วขับ รวมถึงเป็นต้นเหตุของการทะเลาะวิวาทสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน และถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายตาม พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551โดยเฉพาะการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ขายในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ และในเวลาห้ามขาย การเร่ขาย การโฆษณาลด แลก แจก แถม ห้ามจำหน่าย ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะและรถทุกประเภท

นอกจากนี้ การขายบนถนนยังผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วย ซึ่งหากพบเห็นสามารถแจ้งสำนักงานเขตหรือ กรุงเทพมหานครผ่านหมายเลข 1555 หรือถ่ายคลิปวีดีโอเป็นหลักฐาน ซึ่งทางเขตจะประสานให้ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องเข้าดำเนินการทันที ส่วนบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) หน่วยงานที่ออกมารณรงค์ให้กรุงเทพมหานครใช้มาตรการปลอดเหล้าในการจัดงานสงกรานต์ที่ถนนข้าวสารในเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา กล่าวว่า วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้กฎกมายบังคับใช้ได้คือ กระทรวงสาธารณสุขรวมถึงกรุงเทพมหานคร จะต้องมีมาตรการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง โดนที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ ได้มีการเสนอให้ออกกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่อง เช่น เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ รวมทั้งการห้ามขายเครื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะ ซึ่งทั้งสองเรื่องดังกล่าวยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากหน่วยงานใดจึงยังคงเห็นมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามที่สาธารณะอยู่ทั่วเมือง

ด้าน นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวถึงการควบคุมปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า กรุงเทพมหานครควรจะมีมาตรการที่จริงจังโดยเฉพาะแนวทางการจัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษา การเข้มงวดการห้ามขายให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และการห้ามจำหน่ายในสถานที่ต้องห้าม เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาที่จะตามมาอีกมาก อาทิ ปัญหาทะเลาะวิวาท อาชญากรรม การละเมิดทางเพศ รวมถึงการท้อง แท้ง ทิ้ง ซึ่งจากข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า เยาวชนไทยดื่มมากกว่าประชาชนทั่วไปถึง 30% ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม.ตามกฎหมาย ให้ความสำคัญเรื่องนี้ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างจริงจังเพื่อลดปัญหาต่างๆลงได้

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code