แนะป้องกันการแพร่ระบาด โรคไข้เลือดออก

ที่มา : แนวหน้า


แนะป้องกันการแพร่ระบาด โรคไข้เลือดออก thaihealth


แฟ้มภาพ


พบป่วย 2.5 หมื่นคน เสียชีวิตแล้ว 15 ราย หน้าฝนยิ่งเสี่ยงเพิ่ม   กรมควบคุมโรคเตือนไข้เลือดออกระบาด "ชัยภูมิ-ระยอง-ขอนแก่นแม่ฮ่องสอน-นครราชสีมา" อัตราป่วยสูงสุด ปัจจุบันเพิ่มความเสี่ยง หลังอุตุฯพยากรณ์ ฝนจะตกหลายพื้นที่ แนะมาตรการ 3 เก็บ รับมือ


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ที่ 28 วันที่ 12-18 กรกฎาคม 2563 ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-8 กรกฎาคม 2563 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 25,708 ราย เสียชีวิต 15 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปีและ 25-34 ปี ตามลำดับ จากข้อมูลการ กระจายของผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยมีการกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยภูมิภาคที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน สูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ จ.ชัยภูมิ รองลงมา คือ จ.ระยอง ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน และจ.นครราชสีมา ตามลำดับ


"คาดว่าช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น แม้ว่าจำนวน ผู้ป่วย ณ ช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 จะมีรายงานผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2562 ก็ตาม แต่จากข้อมูลพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักและฝนตกสะสมหลายพื้นที่ ซึ่งหากฝนตกอาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวและว่า


กรมควบคุมโรค แนะนำให้มีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและในชุมชน ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา


อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ประชาชนสามารถป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้ โดยสวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น DEET ใช้กลิ่นกันยุง เช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่นๆ นอนในมุ้ง และหากมีอาการไข้สูงปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง มีผื่น มีรอยจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา เบื่ออาหาร จุกแน่นลิ้นปี่ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว

Shares:
QR Code :
QR Code