แนะปวดหัวให้รีบหาหมอ เสี่ยงอัมพฤกษ์-อัมพาต

          เตือนผู้สูงอายุเวียนหัวรีบหาหมอ ตรวจเช็กร่างกายหาสาเหตุ ระบุมีหลายปัจจัยเสี่ยง มาช้าเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต พบตะกอนหินปูนเคลื่อน น้ำในหูไม่เท่ากัน พบบ่อยที่สุด ย้ำยาแก้เวียนหัวช่วยให้ทุเลาแต่ไม่หาย


แนะปวดหัวให้รีบหาหมอ เสี่ยงอัมพฤกษ์-อัมพาต thaihealth


          พญ.ภาณินี จารุศรีพันธุ์ ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงเรื่องการเวียนศีรษะในผู้สูงวัยเรื่องธรรมดาหรืออันตราย ว่า อาการเวียนศีรษะมีหลายลักษณะ เช่น บ้านหมุน หัวตื้อๆ ไม่โล่ง หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดต่ำ การอธิบายอาการให้แพทย์ทราบอย่างละเอียดจึงจะสามารถหาสาเหตุของโรคได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการบ่งชี้จะต้องตรวจสอบหาสาเหตุ เช่น การทรงตัว อาจเกิดจากความผิดปกติที่หู สมอง หัวใจ หลอดเลือด หรือ บางคนเกิดจากการเปลี่ยนยาความดันโลหิตสูงก็ได้ โดยผู้สูงอายุที่มารับการรักษาด้วยอาการเวียนศีรษะนั้นพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 40 เกิดจากตะกอนหินปูนเคลื่อน ซึ่งมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ร้อยละ 20 เกิดจากน้ำในหูไม่เท่ากัน และร้อยละ 10 เกิดจากเนื้องอกของเส้นประสาทคู่ที่ 8


          พญ.ภาณินี กล่าวว่า สำหรับตะกอนหินปูนเคลื่อน เกิดจากหินปูนที่ปกติมีอยู่ในหูอยู่แล้วเกิดกลิ้งออกไปตำแหน่งอื่น ส่งผลให้มีอาการบ้านหมุน ซึ่งมักเกิดเมื่อขยับตัว โดยอาการบ้านหมุนจากตะกอนหินเคลื่อนนั้นจะพบว่ามีอาการบ้านหมุนไม่เกิน 1 นาทีก็จะหยุดเมื่อผู้ป่วยอยู่นิ่งๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุนั้น แพทย์จะนำคนไข้ไปกลิ้งบนเตียงแล้วตรวจสายตาประกอบด้วย หากพบว่าเกิดจากตะกอนหินเคลื่อนจริง ก็จะทำการรักษาด้วยการทำกายภาพโดยใช้การหมุนศีรษะไปมาประมาณ 5-10 นาที เพื่อทำให้ตะกอนกลับเข้าที่ ซึ่งการหมุน 1 ครั้งมีโอกาสหายได้ถึงร้อยละ 80 ส่วนคนที่หมุนหลายครั้งแล้วยังไม่เข้าที่ แพทย์ก็จะให้คนไข้ทำการเคลื่อนไหวเพื่อให้ร่างกายชิน แต่หากยังไม่หายอีกก็จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีหลายเทคนิค ส่วนยาแก้เวียนหัวจะช่วยเพียงการทุเลาแต่ไม่หาย


          "อาการตะกอนหินปูนเคลื่อน อาจเกิดความเข้าใจผิดว่าเกิดจากน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่ต่างกันตรงที่อาการน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีอาการบ้านหมุน แต่เมื่ออยู่เฉยๆ ต้องใช้เวลานานกว่าประมาณ 20 นาที และมีปัญหาการได้ยิน เกิดเสียงรบกวน และต้องมีอาการลักษณะนี้ 2 ครั้ง ถึงจะเรียกว่าน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นต้น" พญ.ภาณินี กล่าวและว่า อุบัติการณ์ทั่วโลกจะพบตะกอนหินปูนหลุดมากกว่าอาการน้ำในหูไม่เท่ากันเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อาการตะกอนหินปูนเคลื่อนไม่ได้มีอันตราย แต่อันตรายจากการที่ตะกอนหลุด คือ เมื่อมีอาการบ้านหมุนอาจทำให้คนไข้ล้มได้ ดังนั้น เมื่อมีอาการบ้านหมุนหรือเวียนหัวคนไข้จึงไม่ควรขึ้นที่สูง นั่งกับพื้นราบและอยู่นิ่งๆ เพราะหากนั่งแล้วล้มก็จะไม่ได้รับอันตราย โดยเฉพาะเมื่อเกิดในผู้สูงอายุจะอันตรายมากกว่าเพราะอาจทำให้เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก ที่ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรรักษาก่อนที่จะเกิดอันตราย


 


 


          ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 

Shares:
QR Code :
QR Code