แนะปรับพฤติกรรมชีวิตลดเสี่ยง’หลอดเลือดหัวใจ
ที่มา : สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
หัวใจเป็นกำลังหลักในการควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย จึงควรดูแลหัวใจให้แข็งแรงอยุ่เสมอ โดยควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า หัวใจเป็นกำลังหลัก ในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จึงควรดูแลหัวใจให้แข็งแรงโดยควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ สูบบุหรี่ ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย ไม่รับประทานผัก ผลไม้ โรคอ้วนลงพุง และกรรมพันธุ์ เป็นต้น
นพ.เอนกกนกศิลป์ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า หากหัวใจทำงานผิดปกติ จะพบอาการบ่งชี้ที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น แน่นหน้าอกอย่างรุนแรงคล้ายมีบางอย่างมากดทับ รู้สึกร้าวไปทั้งแขนด้านซ้าย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือบางรายมีการแสดงอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น ขณะทำงานเล่นกีฬาหรืออยู่นิ่งๆ แต่มีอาการแน่นหน้าอกที่รุนแรง เหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกรามและสะบักหลังแขนซ้าย จุกคอหอย บางรายมาด้วยอาการจุกลิ้นปี่คล้ายกรดไหลย้อน
หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธีและรักษาชีวิตได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการควบคุมปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรเริ่มต้นโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ดังนี้ ควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ลดหวาน มัน เค็ม คุมระดับน้ำตาลและงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ คุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมงดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ