5 วิธีขับขี่ปลอดภัย ช่วงวันหยุดยาว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

 

เเฟ้มภาพ

                    กรมควบคุมโรค แนะประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่รถทางไกลช่วงวันหยุดยาวนี้ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน

                    นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 26-28 ก.พ. 64 ที่จะถึงนี้เป็นช่วงหยุดยาววันมาฆบูชา คาดว่าประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อพบปะญาติพี่น้อง หรือเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะมีปริมาณการจราจรจำนวนมาก ส่งผลให้มีการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงเวลาปกติ อาจทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตจำนวนมาก กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมทั้งคนทั้งรถก่อนการเดินทางโดยเฉพาะการเตรียมตัวของคนขับถือว่าสำคัญมาก เพราะคนขับจะเป็นคนที่ต้องดูแลชีวิตของผู้โดยสารในรถ และเป็นผู้รับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆ ด้วย

                    กรมควบคุมโรค ขอแนะนำ 5 วิธีปฏิบัติในการขับขี่ให้ปลอดภัย ดังนี้ 1.ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและไม่รับประทานยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาลดน้ำมูก ยาภูมิแพ้ ยาแก้ไอ ทั้งก่อนการขับรถและขณะขับรถ เพราะอาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับขี่ลดลง 2.พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง 3.ตรวจเช็คความพร้อมของยานพาหนะ โดยตรวจเช็คลมยาง ไฟส่องสว่างและไฟเลี้ยว ตรวจระบบเบรก และควรมีเครื่องมือประจำรถและอะไหล่ต่างๆ สำรองติดรถไว้เพื่อประสิทธิภาพการขับขี่ที่ดีขึ้น 4.คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะขับขี่ หากขี่รถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัยตลอดการเดินทาง และ 5.ขับขี่ยานพาหนะด้วยความระมัดระวัง ไม่เล่นโทรศัพท์มือถือหรือคุยโทรศัพท์ขณะขับรถ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

                    นายแพทย์โอภาส กล่าวเน้นย้ำว่า ขอให้ประชาชนดูแลตนเองขณะเดินทาง โดยใช้มาตรการป้องกันโควิด -19 อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 พร้อมทั้งสแกน “ไทยชนะ” ก่อนเข้า-ออกสถานที่สาธารณะทุกครั้ง และขอให้โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อใช้ในการติดตามไทม์ไลน์ จะช่วยให้การสอบสวนควบคุมโรคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมื่อกลับถึงบ้านหรือ ถึงที่หมายต้องทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อเข้ามาติดต่อสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะหากกลุ่มนี้ได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Shares:
QR Code :
QR Code