แนะตรวจตาทุก 2 ปี แก้ ‘โรคตา’

ที่มา : เดลินิวส์


"โรคตา" เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้ สูงวัย ผู้ป่วยส่วนใหญ่คิดว่าเกิดจากความเสื่อมตามวัยจึงมองข้าม ทำให้อาจถึงขั้นสูญเสียดวงตาได้ กระตุ้นเตือนให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพดวงตาก่อนสายเกินแก้


แนะตรวจตาทุก 2 ปี แก้ 'โรคตา'  thaihealth


โรงพยาบาลราช วิถี จัดกิจกรรมรณรงค์ "โรงพยาบาลราชวิถีร่วม รักแม่…รักษ์สุขภาพ (ดวงตา) แม่" เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 2560 ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ บริการตรวจสุขภาพตา และจัดเสวนา "เคล็ดลับการดูแลและถนอมดวงตา" บริเวณโอพีดี ชั้น 10 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ รพ.ราชวิถี


ในการเสวนา นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.รพ.ราชวิถี ให้ข้อมูลว่า ปี พ.ศ. 2568 คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุจะมีประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่ผู้สูงวัยเหล่านี้มีปัญหาสายตาเลือนราง มองเห็นไม่ชัดเจน หรืออาจตาบอดถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก ได้แก่ ต้อกระจก เบาหวานขึ้นจอตา ต้อหิน และโรคจอตาอื่น ๆ ทั้งนี้ร้อยละ 90 ของโรคทางตาสามารถป้องกันหรือรักษาให้ดีขึ้นได้ หากได้รับการตรวจแต่เนิ่น ๆ โดยผู้ที่อยู่วัย 40 ปีขึ้นไปแม้ไม่มีโรคควรได้รับตรวจตาอย่างละเอียดกับจักษุแพทย์ทุก 2 ปี และผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจตาปีละครั้ง ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไทรอยด์ ต้องทำการรักษาควบคู่กัน และตรวจตาตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด


ด้าน นพ.ธีรวีร์ หงษ์หยก จักษุแพทย์ รพ. ราชวิถี กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคตาคือ อายุที่มากขึ้น ตาถูกแสงแดดจัด ขาดวิตามินเอ กรรมพันธุ์ มีโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยเฉพาะเบาหวานและบุหรี่ เมื่อเป็นโรคตาโอกาสสูญเสียการมองเห็นขึ้นอยู่กับสาเหตุ และการพบแพทย์หรือจักษุแพทย์ได้ทันกาลหรือไม่ ซึ่ง อาจเกิดเพียงชั่วคราวหรือถาวรตลอดไป อาจเป็นการสูญเสียการมองเห็นชนิดพอมองเห็นบ้าง หรือลักษณะตาบอดถาวรก็ได้ หากสังเกตเห็นความผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด เป็นหมอกเบลอ ๆ มองเห็นเป็นจุดดำ ๆ มองเห็นภาพบิดเบี้ยว การมองเห็นแคบลง มีอาการปวด เคือง แดง ควรรีบพบจักษุแพทย์


นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตการมอง เห็นของตัวเองทีละข้าง ด้วยการหลับตาหรือปิดตาดูว่าแต่ละข้างมองเห็นผิดปกติหรือไม่ เช่น มัวเป็นส่วน ๆ หมอกฝ้าไปทั่ว อ่านหนังสือไม่ชัดทั้งที่ใส่แว่นตาเหมาะสมแล้ว ภาพบิดเบี้ยว มีจุดดำ ๆ ลอยไปมา หรือแสงแว่บเหมือนฟ้าแลบ ภาพซ้อน เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปตรวจรักษา หรือแม้จะไม่มีอาการหรือเป็นโรค ก็ควรตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นระยะ เพราะโรคตาหลายอย่าง เช่น ต้อหิน ระยะแรกไม่มีอาการอะไรเลย ถ้าถึงระยะที่มีอาการมักเป็นระยะหลังที่เส้นประสาทเสียไปมาก เอากลับคืนมาไม่ได้ ส่วนผู้ที่เป็นเบาหวาน ต้องควบคุมโรคประจำตัวและควรตรวจขยายม่านตาดูจอประสาทตาอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อเฝ้าระวังและดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อน

Shares:
QR Code :
QR Code