แนะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ปฏิบัติตามคำเตือนการอพยพ
ที่มา : ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
จากคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกนั้น นอกจากคนทั่วไปแล้ว บ้านไหนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยยิ่งต้องให้การระมัดระวัง เพื่อเตรียมเคลื่อนย้ายคุณตาคุณยายและข้าวของออกไปจากพื้นน้ำท่วมตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันผลเสียด้านสุขภาพที่อาจตามมา
นพ.ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลในการเตรียมตัวอพยพหนีน้ำท่วม ตลอดจนการเฝ้าระวังโรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วมขังช่วงหน้าฝนนี้
นพ.ประพันธ์ให้ข้อมูลว่า “สำหรับการเตรียมตัวเพื่ออพยพเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมนั้น ต้องแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง และรายที่ยังสามารถเคลื่อนไหวตัวเองได้ เริ่มจาก “ผู้สูงวัยป่วยติดเตียง” ที่ลูกหลานหรือญาติที่ดูแลจะต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายไว้ให้พร้อม อาทิ “เปลเคลื่อนที่” หรือ “รถเข็น” หลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวในลักษณะของการหิ้วหรือแบก เพราะอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บมากขึ้นไปอีก หากว่าบางรายมีแผลกดทับเรื้อรังที่บริเวณหลัง ที่สำคัญต้องอพยพตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีน้ำท่วมขังก่อนแล้วจึงค่อยพาท่านออกจากบ้าน เพราะนั่นอาจทำให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น ที่ลืมไม่ได้ควรเตรียมยาโรคประจำตัวที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุไปด้วยทุกครั้ง
ในส่วนของ “ผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวได้ปกติ” ที่อาจจะมีข้อกำจัดในเรื่องของการ “ห่วงทรัพย์สินภายในบ้าน” กระทั่งไม่ยอมออกไปนั้น หากเป็นรายที่สามารถพูดคุยเจรจากันด้วยเหตุผลได้ ลูกหลานก็สามารถบอกด้วยเหตุและผลถึงการเคลื่อนย้ายในครั้งนี้ แต่ถ้าท่านใดไม่ยอมฟัง ก็แนะนำว่าให้ลูกหรือหลานที่ท่านรักบอกว่า “จะพาท่านออกไปหาหมอเพื่อตรวจอาการของโรค ผู้สูงอายุก็จะยอมทำตาม” และเมื่ออพยพออกมาจากพื้นที่น้ำท่วมแล้ว ก็ให้ลูกหลานที่ท่านรักมากที่สุดคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา โดยต้องไม่ปล่อยให้ท่านอยู่กับคนอื่นเพียงลำพัง เพราะนั่นจะทำให้ท่านอยากกลับเข้าไปในบ้านที่น้ำท่วมอีกครั้ง เพราะห่วงทรัพย์สินนั่นเอง
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญอยู่ใน “แหล่งน้ำท่วมขัง” ตลอดเวลา ภายหลังจากการอพยพเคลื่อนย้ายหนีน้ำแล้วนั้น ลูกหลานเองก็ควรให้ความใส่ใจในการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัย โดยเฉพาะ “โรคท้องร่วง” ที่มักพบได้ในช่วงหน้าฝน และบ้านเรือนตั้งอยู่ในน้ำแช่ขัง ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคทางเดินอาหาร ที่ผู้สูงอายุได้รับจากการเดินย่ำ หรือมือไปสัมผัสโดนน้ำเน่าเสียเป็นเวลานานๆ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรยืนหรือเดินแช่เท้าในน้ำ และต้องรีบล้างมือ-เท้าให้สะอาดโดยเร็วที่สุด อีกทั้งต้องผึ่งลมให้แห้งโดยเร็ว
รองลงมือคือ “โรคน้ำกัดเท้า” เนื่องจากเชื้อโรคมักจะปนอยู่ในน้ำเน่าเสีย และยิ่งผู้สูงอายุที่ป่วยโรคเบาหวาน ยิ่งต้องเลี่ยงการเดินลุยน้ำแช่ขังให้มากที่สุด หรือหาอุปกรณ์สำหรับพันเท้า เช่น การสวมถุงพลาสติก หรือรองเท้าบูต เพื่อไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำ เพราะจะเสี่ยงต่อแผลเน่าเปื่อย คัน และติดเชื้อเรื้อรังในรายที่มีบาดแผลที่เท้าอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ยังพบผู้สูงอายุ “เกิดภาวะอ่อนเพลีย” ช่วงน้ำท่วมขังจากการที่ดื่มน้ำน้อย ซึ่งจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงได้ เนื่องจากเลือดมีความหนืดข้น จึงไปกระตุ้นให้ระดับความดันทำงานหนักมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ให้ผู้สูงอายุหมั่นจิบน้ำต้มสุก หากต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานานๆ