แนะครอบครัวตั้งสติรับมือวิกฤติ COVID-19

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า


แนะครอบครัวตั้งสติรับมือวิกฤติ COVID-19 thaihealth


แฟ้มภาพ


สค.เผยถึงประเด็นข้อห่วงใยและข้อควรปฏิบัติไปยังครอบครัวไทยเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา2019 หรือ COVID-19 ซึ่งกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สมาชิกในครอบครัวทุกคน แนะทุกครอบครัวตั้งสติเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการลดการแพร่ระบาดทุกช่องทางโดยเคร่งครัด เพื่อรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอและรู้เท่าทัน


นางสาวอุษณี กังวารจิตต์อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รัฐบาลได้กำหนดมาตรการลดการแพร่ระบาดรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพิจารณาการดำเนินการในด้านต่างๆ 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสาธารณสุข 2) ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน 3) ด้านข้อมูล การชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน 4) ด้านการต่างประเทศ 5) ด้านมาตรการป้องกัน 6)ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ทั้งนี้ พม.มีภารกิจที่เกี่ยวข้อง 4 มาตรการ ตามข้อ 1) 2) 5) และ 6) ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการป้องกัน เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ


สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้วและผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน อยู่ที่บ้าน ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ สมาชิกในครอบครัว เพราะความเจ็บป่วยของสมาชิกในบ้านย่อมส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของสมาชิกในครอบครัวโดยตรง ทั้งความเครียดทางจิตใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพเพื่อให้สอดคล้องกับการควบคุมโรคการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ และหากสถานการณ์การระบาดของโรคยังดำเนินต่อไปอีกเรื่อยๆ จะส่งผลต่อภาวะทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบกับหลายครอบครัวแน่นอน ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ทุกครอบครัวต้องตั้งสติ เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอและรู้เท่าทัน ใช้ความรักความเข้าใจของครอบครัวดูแลเอื้ออาทรกัน


นางสาวอุษณี กล่าวต่อไปว่า สค.ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง ได้เล็งเห็นว่าการระบาดของโรคจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวไทยทั้ง 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1ครอบครัวที่อยู่ในภาวะปกติ ไม่มีสมาชิกที่ติดเชื้อหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้นำคำแนะนำและข้อปฏิบัติด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขมาใช้อย่างเคร่งครัด มีข้อแนะนำ ดังนี้ 


1) ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนกกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เกินไป


2) ตระหนักในการดูแลป้องกันตัวเอง


3) สอนสมาชิกครอบครัวให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน พกเจลหรือล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ งดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น


4) ดูแลทำความสะอาดบ้าน เปิดให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก


5) ให้หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงหรือที่มีคนจำนวนมาก


6) งดงานสังสรรค์ที่มีผู้คนจำนวนมาก


7) รักษาระยะห่างเวลาคุยกับคนอื่นให้คุยห่างกัน 1.5-2 เมตร


8) ควรมีการดูแลสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก หรือคนที่มีโรคประจำตัวเป็นพิเศษ


9) หากสมาชิกมีไข้ให้แยกตัวและของใช้จากสมาชิกคนอื่น


10) ติดตามข่าวสาวและข้อปฏิบัติจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะ


11) หากพบสมาชิกมีไข้ขึ้นสูงเกิน 37.5 องศาให้รีบพาไปพบแพทย์


12) หมั่นสังเกตอาการผิดปกติด้านสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ


13) กรณีที่สมาชิกในครอบครัวจำเป็นต้องออกไปข้างนอกเมื่อกลับเข้าบ้านควรล้างมือและเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อยก่อน 14) พ่อแม่ควรทำตัวเป็นแบบอย่างให้สมาชิกในครอบครัวด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม โดยการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ควบคู่การสร้างวินัยให้กับทุกคนในบ้านให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดเมื่อออกจากบ้านทุกครั้ง


นอกจากนี้ การปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวยังช่วยให้สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้เวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์ได้ เช่น การทำความสะอาดบ้านให้ถูกสุขอนามัย สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสใกล้กันมากขึ้น มีโอกาสได้พูดคุยหารือให้คำแนะนำการรับข่าวสารต่างๆ การป้องกันตนเองจากโรค หรือวางแผนสิ่งต่างๆ ร่วมกัน เป็นต้น


กลุ่มที่ 2 ครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้ป่วยติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง นั่นคือครอบครัวที่มีผู้ป่วย COVID-19 หรือครอบครัวที่มีสมาชิกที่ต้องเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว


2) หยุดเรียนหรือทำงาน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่บ้าน และอยู่ห่างจากผู้อื่น1-2 เมตร


3) ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอ จาม หากไม่มีกระดาษทิชชู ให้ใช้ต้นแขนด้านในหรือข้อศอกตัวเองแทน สิ่งสำคัญคือ ห้ามไอ จาม ใส่ฝ่ามือตัวเอง


4) ห้ามกินอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น รวมถึงควรแยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช่ร่วมกับอื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำเป็นต้น


5) แยกห้องนอน


6) ทำความสะอาดที่พักและของใช้


7) ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 8 แยกขยะติดเชื้อ ทิ้งหน้ากากอนามัย หรือกระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้วให้ถูกวิธี นั่นคือการทิ้งในถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิท มิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด และล้างมือด้วยสบู่และน้ำนานราว 15-20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไปทันที นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการของตัวเอง โดยการวัดอุณภูมิร่างกายทุกวัน ซึ่งควรจดบันทึกไว้เป็นประจำทุกวันด้วย หากมีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหอบ หรือมีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งจากที่กล่าวมานั้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที


ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง ควรล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในบ้านและรักษาระยะอยู่ห่างกันราว 1-2 เมตร หากต้องการที่จะกินอาหารร่วมกัน ควรจะแยกชุดอาหาร และนั่งห่างกันอย่างน้อย1 เมตร ทำความสะอาดที่พักและบริเวณต่างๆอยู่เสมอ และต้องสังเกตอาการตัวเองด้วย ข้อปฏิบัติเหล่านี้ทุกคนในครอบครัวต้องให้ความร่วมมือและดูแลกันอย่างเคร่งครัด


อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของโรคซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวม หลายสถานประกอบการปิดตัวลง แรงงานบางส่วนกลับสู่ภูมิลำเนาต่างจังหวัด พม. ได้มีนโยบายให้เตรียมแผนรองรับด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพในระยะสั้นสค. โดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว ทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ นอกจากผลิตคลิปสอนทำหน้ากากอนามัยด้วยตัวเอวแล้ว ยังมีการจัดทำหลักสูตรการฝึกอาชีพออนไลน์เพื่อเพิ่มทางเลือกในการฝึกอาชีพและลดโอกาสการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมาก ที่สำคัญคือเป็นการสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ฝึกทักษะอาชีพด้วยเวลาไม่นานและใช้เป็นทางเลือกในการหารายได้ เลี้ยงดูครอบครัว หรือใช้สร้างเป็นอาชีพใหม่ได้


“ในช่วงเวลาที่วิกฤตินี้ หลายครอบครัวอาจประสบกับความตึงเครียด ดังนั้น ต้องบริหารจัดการเวลาและความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดี สค. ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัว ใช้ความรักความเข้าใจของครอบครัวเป็นพลังให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน” นางสาวอุษณี กล่าวในตอนท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code