แนะการใช้ชีวิตผู้ป่วยเบาหวานในยุคโซเชียล

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


แนะการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานในยุคโซเชียลมีเดีย thaihealth


แฟ้มภาพ


          สมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ สร้างเกราะความรู้ให้ผู้เป็นเบาหวานในยุคโซเชียลมีเดีย เดินหน้าสร้างเครือข่ายชมรมผู้เป็นเบาหวานให้ครอบคลุม ทั่วประเทศ หวังลดการเกิดโรคเบาหวานในคนไทย


          ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายปี พ.ศ.2557 ในประชากรตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าเป็นเบาหวานร้อยละ 8.9 หรือคิดเป็น 4.8 ล้านคน นอกจากนี้ การรักษาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบรรลุเป้าหมายเพียงร้อยละ 38.2


          ท่ามกลางการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างมาก ในสภาพสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่สามารถสื่อสารส่งต่อความรู้ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง จึงนำมาสู่การเสวนาทางวิชาการ "การใช้ ชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานในยุคโซเชียลมีเดีย" ของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ประจำปีพ.ศ.2560 นี้ เพื่อหาคำตอบและแนวทางในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้การป้องกันและรักษาโรคเบาหวานในประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย เพื่อลดการเกิดโรคเบาหวานในคนไทย และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน


          นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวาน แห่งประเทศไทยฯ  เปิดเผยว่า "ปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์และการใช้เทคโนโลยีในการดูแลโรคเบาหวานมีบทบาทมากขึ้นในการรักษาผู้ป่วย โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้ตระหนักถึงผลกระทบในส่วนนี้มาโดยตลอด และล่าสุดสมาคมฯ ได้มุ่งสร้างเกราะความรู้ความเข้าใจต่อผู้คนสังคมไทยในรูปแบบ "โครงการสัมมนาเครือข่าย ชมรมผู้เป็นเบาหวาน" โดยได้จัดร่วมกับโรงพยาบาลในภูมิภาคต่างๆ เพื่อรวมตัวสร้างเป็นเครือข่ายขึ้นระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้เป็นเบาหวาน ซึ่งเป็นการรวมตัวที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลมาก เนื่องด้วยแพทย์จะได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เป็นเบาหวานและครอบครัวอย่างใกล้ชิด ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทำให้เข้าใจถึงปัญหา และร่วมกันหาทางออกที่ดี นำไปสู่การพัฒนาการดูแลตนเองและการช่วยเหลือระหว่างผู้ป่วยด้วยกัน โดยที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้จัดไปแล้ว 6 จังหวัด เริ่มจากกรุงเทพฯ อุบลราชธานี สงขลา เชียงใหม่ ระยอง และพิษณุโลก สามารถเข้าถึงผู้นำกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานได้ถึง 400 คน บุคลากรทางการแพทย์ 300 คน จากทั้งหมด 128 โรงพยาบาล และมีแผนดำเนินการขยายสังคมเครือข่าย ผู้เป็นเบาหวานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้การรักษาเบาหวานบรรลุเป้าหมาย และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วยและประชาชน"


          ศ.นพ.ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความเห็นว่า "ยุคโซเชียลทำให้พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนไป ชอบค้นหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา อาจารย์ได้เปิดเฟซบุ๊ค ชื่อ Endocrinology by Prof. Chatlert Pongchaiyakul เป็นเพจทางวิชาการ เริ่มแรกตั้งใจจะให้ความรู้ทางวิชาการทางด้านระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวานแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก แต่หลังจากเปิดเพจไประยะหนึ่งพบว่ามีผู้ติดตามเพจจำนวนมากที่เป็นประชาชนทั่วไป ทำให้ต้องนำเสนอข้อมูลในวงกว้างสำหรับผู้อ่านทั่วไป ให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคทางต่อมไร้ท่อและโรคเบาหวานไปด้วย ปัจจุบัน เพจนี้มีผู้ติดตามประมาณเกือบสี่หมื่นคน นอกจากเฟซบุ๊คแล้ว อาจารย์ยังได้ทำการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยในการรักษาโดยผ่านโปรแกรม LINE โดยส่งข้อมูลเรื่องการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การปรับยาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมได้ดีขึ้นอีกด้วย"


          ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ นักวิจัยและหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยติดตามสุขภาพและรูปแบบการดำเนินชีวิต ศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้บรรยายเรื่องการใช้งานของแอพพลิเคชั่นได้แสดงให้เห็นผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีขึ้นในประชากรผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวาน ส่วนใหญ่การออกแบบแอพพลิเคชั่นสำหรับโรคเบาหวานจะมี 3 หมวดหลักๆ ที่สำคัญ คือ บันทึกประวัติ (diary for diabetes tracker) ข้อมูลทางโภชนาการ (nutrition) และการดูแลสุขภาพ (wellness and health management)


          ทั้งนี้ ในประเทศไทย มีแอพพลิเคชั่น เช่น "FoodiEat" ถูกออกแบบให้ใช้งานเพื่อช่วยแนะนำการดูแลสุขภาพ ผู้ใช้งานสามารถบันทึกพฤติกรรมการรับประทานอาหาร คำนวณค่าพลังงานที่เผาผลาญจากการออกกำลังกาย ส่วนแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่กำลังพัฒนา ได้แก่ แอพพลิเคชั่นจะเป็นผู้ช่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพ ให้คำแนะนำผู้ป่วย รวมถึงแจ้งเตือนผู้ป่วยและญาติหากพบภาวะเสี่ยง เช่น เมื่อผู้ป่วยลืมฉีดยา หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ นอกจากนี้ ยังมีแอพพลิเคชั่นวางแผนการรับประทานอาหาร สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งจะช่วยในการประมวลผลสัดส่วนรายการอาหารที่เหมาะสมกับค่าน้ำตาลของผู้ป่วยใน การรับประทานอาหารแต่ละมื้ออีกด้วย


          ผศ.สมิทธิ์ บุญชุติมา ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำแนะนำว่า "เพื่อให้การสื่อสารด้วยสื่อสังคมออนไลน์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีคนสนใจ นักสื่อสารจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะ 4 ด้าน คือ ความรู้ในเรื่องความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เทคนิคการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การผลิตภาพกราฟิกและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด สื่อมีทั้งจริงและเท็จปะปนกัน ดังนั้น ประชาชนและผู้ให้บริการทางสาธารณสุขควรใช้วิจารณญาณวิเคราะห์ก่อนจะเชื่อในสื่อใด ควรพิจารณาจากที่มาของข่าวสาร ผู้ให้ข่าวสารและสถาบันที่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อมูลมาจากสมาคมวิชาการ หรือสถาบันทางการแพทย์ เป็นต้น"


          สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ได้ที่เว็บไซต์สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ www.DMThai.org หรือ Facebook : สมาคมโรค เบาหวานแห่งประเทศไทยฯ

Shares:
QR Code :
QR Code