แนวโน้ม “ผักสดไทย” สู่ในตลาดอียู

 

ปัญหาสารเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ ตกค้างปนเปื้อนในพืชผักและผลไม้ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกสินค้าพืชของไทยไปต่างประเทศ ปัญหาดังกล่าวเกือบทำให้ไทยถูก สหภาพยุโรป หรือ อียู (eu) ระงับการนำเข้าสินค้าผักสด หลังได้รับการแจ้งเตือนจากอียูบ่อยครั้ง

กรมวิชาการเกษตรได้มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยกำหนดมาตรการควบคุมพิเศษระบบบัญชีรายชื่อ (establishment list : el) การส่งออกผักและผลไม้สดไปสหภาพยุโรป ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ประกอบการและผู้ส่งออก ทำให้ปัญหาสารเคมีตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อียูเชื่อมั่นในมาตรการฯ นี้ ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าผักสดไปยังอียู ได้คล่องตัวมากขึ้น

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ภายหลังกรมวิชาการเกษตรได้นำมาตรการควบคุมพิเศษระบบบัญชีรายชื่อมาใช้ควบคุมระบบการผลิตสินค้าผักสดเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มอียูสามารถแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในสินค้าผักสดได้ ถือเป็นเครื่องสำคัญที่ช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าผักสดไปยังตลาดอียูได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุดสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรปได้ส่งหนังสือแจ้งสถิติปริมาณการตรวจพบสารตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์ตกค้างในผักไทยที่ส่งออกไปยังอียูไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ซึ่งผลการสุ่มตรวจพบว่า ปัญหาการตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์และสารพิษตกค้างในพืชผักของไทยมีปริมาณลดลงในระดับที่ต่ำกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553 คาดว่าอาจเป็นผลมาจากการที่กรมวิชาการเกษตรนำผักกลุ่มภายใต้ข้อกำหนด ec regulation 669/2009  ได้แก่ ถั่วฝักยาว มะเขือ พืชตระกูลกะหล่ำ สะระแหน่ ผักชี และขึ้นฉ่าย เข้าสู่ระบบ el ด้วย dg-sanco ได้แจ้งสถิติการตรวจพบสารฆ่าแมลงตกค้างในสินค้าผักไทยที่ส่งออกไปอียูภายใต้การถูกสุ่มตรวจเข้ม ณ ด่านนำเข้าของอียู โดยไตรมาสแรกของปี 2555 ตรวจพบ 6.2%  และไตรมาสที่ 2 พบเพียง 2.35% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่ตรวจพบสารฆ่าแมลง 10.96% และ 14.43% ส่วนการตรวจเชื้อจุลินทรีย์ในผักสด ได้แก่ เชื้อซัลโมเนลลา ปีนี้ไม่พบการปนเปื้อน ซึ่งถือเป็นข่าวดีที่ปัญหามีแนวโน้มลดลงมาก ทำให้อียูมีความพึงพอใจในผลการสุ่มตรวจ  

จากสถิติดังกล่าว ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมที่จะเสนอต่อประเทศสมาชิกให้ลงมติลดระดับการสุ่มตรวจหาสารฆ่าแมลงตกค้างในผักกลุ่มกะหล่ำ มะเขือ และถั่วฝักยาวที่นำเข้าจากไทย จากเดิมที่เคยสุ่มตรวจที่ระดับ 50% ลดลงเหลือ 20% ซึ่งคาดว่า ประเทศสมาชิกอียูจะเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว  และลดระดับการสุ่มตรวจผักสดไทยในต้นปี 2556 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีประเทศที่ส่งออกผักสดไปยังอียู ประสบปัญหาการตรวจพบสารเคมีตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนสินค้าคล้ายกับไทย โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ทางอียูจึงได้ขอให้ไทยเป็นต้นแบบให้กับประเทศที่มีปัญหา โดยเวียดนามได้ขอความร่วมมือจากไทย เพื่อศึกษาเรียนรู้และดูงานเกี่ยวกับการจัดทำมาตรการควบคุมพิเศษระบบบัญชีรายชื่อจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว

ทั้งนี้ มาตรการควบคุมพิเศษระบบบัญชีรายชื่อที่กรมวิชาการเกษตรจัดทำขึ้นเป็นระบบที่ควบคุมการผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงโรงคัดบรรจุ รวมถึงด่านตรวจพืชก่อนส่งออก โดยผู้ส่งออกและโรงคัดบรรจุต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้ไปอียู สำหรับผลผลิตพืชที่จะส่งออกนั้นต้องมาจากแปลงเกษตรกรเครือข่ายโรงคัดบรรจุ

ขณะเดียวกันโรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจีเอ็มพี (gmp) มีการประยุกต์ใช้ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (haccp)  นอกจากนั้นโรงคัดบรรจุต้องมีความรู้ ความสามารถและมีเครื่องมือในการตรวจสอบแมลงศัตรูพืชที่ติดมากับผลผลิตด้วย ปัจจุบันมีโรงงานคัดบรรจุผักและผลไม้ผ่านการตรวจประเมินและได้รับการรับรองเข้าสู่ระบบ el แล้ว จำนวน 22 โรงคัดบรรจุ

นอกจากกรมวิชาการเกษตรจะติดตามตรวจสอบโรงคัดบรรจุ และแปลงเกษตรกรเครือข่ายในระบบ el อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีแผนเร่งบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนและผลักดันให้โรงคัดบรรจุและเกษตรกรระบบ el มากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าพืชผักที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยทางอาหาร และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มอียูและเพิ่มจุดแข็งสินค้าพืชผักของไทย ทำให้สามารถแข่งขันได้และช่วยผลักดันมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code