แนวโน้มคุณภาพชีวิตแรงงานไทยดีขึ้น

ว่างงานลด การศึกษาพัฒนา

 

แนวโน้มคุณภาพชีวิตแรงงานไทยดีขึ้น

            สถาบันวิจัยประชากรและสังคม จับมือ สสส. สช. เปิดรายงานสุขภาพคนไทย รับวันแรงงาน แนวโน้มคุณภาพชีวิตแรงงานไทยดีขึ้น ว่างงานลด การศึกษาพัฒนา รายได้สูงขึ้น แต่หนี้พุ่งตาม อุบัติเหตุ เอดส์ มะเร็ง คร่าชีวิตคนมากสุด อึ้ง 1 ใน 10 แรงงานไทย อยากฆ่าตัวตาย เหตุคุณภาพชีวิตต่ำ 2 ใน 3 แรงงานนอกระบบ ไร้สวัสดิการ งานหนักเสี่ยงป่วยสูง

 

            รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา รองอธิการบดีฝ่ายความร่วมมือและเครือข่าย และอาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.)  มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า วปส. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดทำรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2553 เรื่อง “วิกฤตทุนนิยม สังคมมีโอกาส” ในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี จึงได้ทำดัชนีชี้วัดทางสุขภาพของแรงงานไทย  12 ด้าน ซึ่งครอบคลุมทั้งสุขภาพ กาย ใจ คุณภาพชีวิต การเงิน ความปลอดภัย เป็นต้น จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันมีประชากรวัยแรงงานกว่า 42.6 ล้านคน คิดเป็น 67.4% ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างเอกชน 38% รองลงมาคือ ทำงานส่วนตัว 32% ธุรกิจครอบครัว 18% ลูกจ้างรัฐ 9% และนายจ้าง 3% ภาคอีสานมีแรงงานมากที่สุด 32% รองลงมาคือ ภาคกลาง 25% และอยู่ในกรุงเทพฯ น้อยที่สุดคือ 11%

 

            รศ.ดร.ชื่นฤทัย กล่าวต่อว่า คุณภาพชีวิตของแรงงานไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อัตราการว่างงานของแรงงานไทยลดลง อยู่ที่ 2% ของแรงงานทั้งหมด และมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นจากปี 2542 ที่มีแรงงานจบระดับอุดมศึกษา 10% เพิ่มเป็น 16% ในปี 2552 ส่งผลให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 21,139 บาทต่อเดือน  แต่กลับมีภาวะหนี้สินโดยรวมอยู่ที่ 133,328 บาทต่อครัวเรือน ยิ่งมีรายได้สูงยิ่งเป็นหนี้สูงขึ้นตามไปด้วย โดยแรงงาน ในภาคการไฟฟ้า ก๊าซ การประปา มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยสูงสุด ราวเดือนละ 60,875 บาท รองลงมาเป็นด้านการเงิน ประกันภัย กองทุนบำเหน็จบำนาญ มีรายได้เฉลี่ย เดือนละ 57,936 บาท ขณะที่ภาคเกษตรกรรม มีรายได้ต่ำที่สุด เฉลี่ยเดือนละ 14,653 บาท  

 

            รศ.ดร.ชื่นฤทัย กล่าวอีกว่า เมื่อสำรวจด้านสุขภาพ โดยแบ่งแรงงานไทยเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอายุ 15-29 ปี พบว่า สาเหตุของการเจ็บป่วย คือ อุบัติเหตุ โรคทางจิตเวช และเอดส์ 2.กลุ่มอายุ 30-59 ปี พบว่ามีความเปลี่ยนแปลง คือ ในผู้ชาย อุบัติเหตุและโรคทางจิตเวช จะลดลงเกือบครึ่ง แต่ป่วยด้วยโรคมะเร็งมากขึ้น ส่วนแรงงานหญิง กลับป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจมากที่สุด ส่วนโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ พบว่า การเจ็บป่วยที่เกิดจากสารพิษกำจัดศัตรูพืชมีสัดส่วนสูงถึง 80%  รองลงมาคือ โรคพิษจากสารปิโตรเคมี 8% โรคปอดจากการประกอบอาชีพ 6% โรคพิษจากแก๊สและสารระเหย 3% และโรคพิษจากสารหนู แมงกานีส แคดเมียม ปรอท 2% โรคจากสารตะกั่ว 1%

 

            ปัญหาที่คุกคามสุขภาพแรงงานไทยทั้งชายและหญิง ในทุกช่วงอายุ คือ โรคเอดส์ และเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น จากผลสำรวจเอแบคโพลล์ที่พบว่า 1 ใน 10 ของแรงงานเคยคิดฆ่าตัวตาย เนื่องมาจากคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี อาชีพรับจ้างทั่วไปจะมีสุขภาพจิตต่ำกว่าอาชีพอื่น เพราะไม่มีความมั่นคงในชีวิต ส่วนข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ มีสุขภาพจิตดีที่สุดรศ.ดร.ชื่นฤทัย กล่าว

 

            ด้านนางเบญจมาภรณ์ จันทรพัฒน์ ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพและบริการสุขภาพ สสส.  กล่าวว่า ขณะนี้แรงงานไทย 2 ใน 3 เป็นแรงงานนอกระบบ อยู่ในภาคการเกษตร ประมง บริการ หัตถกรรม ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่มีการคุ้มครองสวัสดิการทั้งสุขภาพและรายได้ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจเมื่อปี 2551 พบว่า แรงงานนอกระบบมีอัตราการได้รับการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน 174 ต่อ 1,000 ประชากร สูงกว่าแรงงานในระบบ 1.64 เท่า  และ 2 ใน 5 ของแรงงานนอกระบบต้องทำงาน 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อ 1 สัปดาห์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ เห็นได้จากปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการทำงานเกิดในกลุ่มแรงงานนอกระบบมากกว่า ทั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่จะนำมาสู่คุณภาพแรงงานในที่สุด

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

 

Update 29-04-53

 

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code