แนวปฏิบัติเพื่อก้าวข้ามและเรียนรู้ไปกับลูกหลาน
แนวปฏิบัติเพื่อการก้าวข้ามและเรียนรู้ไปกับลูกหลาน เมื่อพวกเขาเป็นเพศที่สาม การยอมรับในตัวตนและอยู่เคียงข้างพวกเขา ถือเป็นเรื่องสำคัญ
– ไม่หลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือปฏิเสธความจริงที่ลูกหลานของเราเป็นกะเทยหรือคนข้ามเพศ เพราะอาจส่งผลต่อเรื่องความเชื่อมั่นและพื้นที่พึ่งพึงทางใจ แต่หากยังไม่พร้อมที่จะยอมรับและสนับสนุน อาจใช้ความละมุนละม่อม อดทนในการขอเลื่อนการพูดคุยกับลูกหลานออกไปพร้อมให้เหตุผลประกอบ
– หาเวลาในการใคร่ครวญ ถาม-ตอบความรู้สึกของตนเองเป็นระยะว่าพร้อมหรือไม่ที่จะค้นหาคำตอบและก้าวข้ามไปพร้อมลูกหลาน รวมถึงการถามตนเองว่าการยอมรับนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือเกิดประโยชน์อะไรขึ้นบ้างกับลูกหลานและครอบครัวของเรา
– ไม่เปรียบเทียบลูกหลานของตนกับลูกหลานของคนอื่นๆ และส่งเสริมการรู้คุณค่าในตนเอง เพราะการเปรียบเทียบจะสร้างความกดดันให้ลูกหลาน และผลักให้เขาไม่อยากเปิดใจกับเรามากยิ่งขึ้น
– ให้ความสำคัญกับความสนใจและความถนัดของลูกหลาน ชื่นชมในสิ่งที่ทำได้ดี แต่ไม่ใช่เยินยอเกินจริง เพราะอาจส่งผลตรงข้าม
– เป็นผู้ฟังที่ดี เปิดสมองเพื่อรับฟังข้อมูลและเรื่องราว เปิดใจเพื่อรับรู้ความรู้สึก และให้คำแนะนำเมื่อลูกหลานต้องการ คำแนะนำอาจเป็นสิ่งที่เรารู้ เราเข้าใจ แต่ถ้าไม่พร้อมอาจบอกตามตรง เพื่อหาข้อมูลจากแหล่งความรู้ภายนอกเพิ่มเติม เช่น การปรึกษากับองค์กรที่ทำงานกับกะเทย อาทิ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน Gender-V คลินิกของโรงพยาบาลรามาธิบดี
– มีการสื่อสารระหว่างกัน โดยเน้นการสื่อสารเชิงบวก คือมองประโยชน์มากกว่าโทษหรือผลเสียที่จะเกิดขึ้น
– ใช้คำถามปลายเปิด เพื่อช่วยให้อีกฝ่ายได้พูด ได้เล่าเรื่องราว ในการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของลูกหลาน เช่น ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง พยายามเลี่ยงคำถามปลายปิด เพราะบางครั้งจะคล้ายการคาดคั้นหาคำตอบมากเกินไป จนทำให้อีกฝ่ายไม่อยากตอบ เช่น ทำไม เพราะอะไร ทำไมถึงคิดอย่างนี้ ทำไมถึงทำอย่างนั้น
– มีความละเอียดอ่อนต่อประเด็นเรื่องเพศ ไม่ใช่เฉพาะกะเทย/คนข้ามเพศ แต่หมายถึงทุกคน รวมถึงผู้ชายและผู้หญิงด้วย ซึ่งไม่ใช่ปฏิบัติแตกต่างจนรู้สึกแปลก อาจใช้จินตนาการเข้าช่วยว่าเราอยากให้คนปฏิบัติแบบไหนกับเรา
– ให้โอกาสลูกหลานได้มีการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นผู้ดูแลอยู่ห่างๆ ให้การช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
– ให้บ้านเป็นสถานที่ในการพักผ่อน และเป็นที่พึ่งพึงทางใจสำหรับลูกหลาน- ใช้คนกลางเป็นตัวกลางพูดคุย เพื่อลดการใช้อารมณ์และการกระทบกระทั่ง เช่น ญาติ พี่น้อง ผู้ใหญ่ที่ยอมรับในตัวตนกะเทย มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเปลี่ยนวิธีคิดที่เริ่มยอมรับกะเทย
– การพูดคุยอาจมีมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะการยอมรับและเข้าใจต้องอาศัยเวลา จึงไม่ควรรีบร้อนหาข้อสรุป ควรให้เวลา แต่ต้องมีเป้าหมายชัดเจน คือการพูดคุยเพื่อการยอมรับซึ่งกันและกัน
สองคำถามยอดนิยม
"ลูกเป็นกะเทยรักษาอย่างไรให้หาย"
ความเป็นกะเทยของลูก คือความเป็นตัวตน คือวิถีชีวิต ไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมีการรักษา สิ่งที่สำคัญกว่าคือการเป็นที่ยึดเหนี่ยวและที่พักพิงให้กับเขา เพียงการพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุขดิบ และใส่ใจกัน ก็เป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกเราแล้ว
ปัจจุบันมีคลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น (Gender Variation Clinic/ Gen V clinic) ของคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ที่พร้อมให้บริการปรึกษาทุกปัญหาเกี่ยวกับเป็นกะเทยเพิ่มขึ้น อย่างมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ Gender-V คลินิกของโรงพยาบาลรามาธิบดี
"กะเทยเกิดจากบาปกรรมใช่ไหม"
เรื่องของความเชื่อบางเรื่องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ชัดเจนไม่ได้ แต่ความเป็นตัวตนของมนุษย์ทุกคนมาจากการเรียนรู้และตัดสินใจด้วยตนเองแทบทั้งสิ้น อีกทั้งหลายศาสนามีแนวคิดในการให้อยู่กับปัจจุบันอย่างเป็นสุข ดังนั้นพยายามอย่านำความคิดเรื่องบาปกรรมที่เป็นอดีตที่จบไปแล้วมาทำให้เกิดความทุกข์ต่อตนเองหรือลูกดีกว่า
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต