แนวทางการจัดกิจกรรมทางกายให้ปลอดภัย
ที่มา: หนังสือข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การลดพฤติกรรมเนื่อยนิ่งและการนอนหลับสำหรับผู้ใหญ่(18-59 ปี)
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
กิจกรรมทางกาย หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายโดยใช้กล้ามเนื้อและกระดูกที่ทำให้เกิดการเผาพลาญพลังงาน แนวทางการจัดกิจกรรมทางกายให้ปลอดภัยมี 6 ข้อ ดังนี้
แนวทางการจัดกิจกรรมทางกายให้ปลอดภัย
1.ประเมินความพร้อมร่างกายของตนเองก่อนมีกิจกรรมทางกาย ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ หอบหืด ความดันโลหิตสูง หรืออาการที่อาจเกิดขึ้นขณะมีกิจกรรมทางกาย เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก วิงเวียน กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดตามกระดูก และข้อต่อ หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษา แพทย์ก่อนที่จะมีกิจกรรมทางกาย
2. เริ่มต้นจากเบาไปหนัก ช้าไปเร็ว และค่อยเพิ่มความหนักจนถึงระดับหนักปานกลางและระดับหนักมากตามลำดับ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักอย่างต่อเนื่องมาก่อน ควรเริ่มต้น จากการมีกิจกรรมทางกายในกิจวัตรประจำวัน
3.อบอุ่นร่างกาย ยืดเหยียด (warm up) และคลายอุ่น (cool down) ก่อนและหลังการมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางและหนักทุกครั้ง
4.จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อเพิ่มโอกาสการเคลื่อนไหวร่างกายในสถานที่ทำงานให้มากที่สุด เท่าที่สามารถทำได้และเพื่อหลีกเลี่ยงท่าทางที่ไม่เป็นธรรมชาติ หรือท่าทางที่อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย เช่น จัดโต๊ะทำงานให้สามารถยืนทำงานได้เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในการนั่งทำงานนาน ๆ
5.ควรมีกิจกรรมทางกายในสภาพอากาศที่เหมาะสม หลีกเลี่ยง อากาศหนาวจัด หรือร้อนจัดมีแสงแดดมาก ๆ ซึ่งหากร่างกายได้รับความร้อนสูงเกินไป มีอาการเช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม คลื่นไส้ ใจสั่น ควรหยุดทำกิจกรรมทันที และไปพักในอากาศที่เย็นกว่า
6.ดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป โดยดื่มได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากมีกิจกรรมทางกาย โดยระหว่างมีกิจกรรมทางกายติดต่อกัน ควรพักดื่มน้ำทุก ๆ 15-20 นาที หรือใช้วิธีจิบน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ในกรณีที่ร่างกายส่งสัญญาณเตือนว่ากำลังขาดน้ำ เช่น คอแห้ง น้ำลายเหนียว ก็ควรพัก หยุดการทำกิจกรรม แล้วดื่มน้ำเพิ่มเติม 2-3 อึก และกรณีที่ทำกิจกรรมระดับหนักและสูญเสียเหงื่อมาก (ทำกิจกรรม ทางกายมากกว่า 1 ชั่วโมง) อาจดื่มน้ำเกลือแร่เสริมได้เพื่อป้องกันไม่ให้เหนื่อย อ่อนแรง