แนวคิดจากปราชญ์ชาวบ้าน สู้วิกฤติด้วยความพอเพียง

เพื่อครอบครัว ชุมชนมีความสุข

 

 แนวคิดจากปราชญ์ชาวบ้าน สู้วิกฤติด้วยความพอเพียง

  

]              หากถามหาแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงว่ามาจากไหน หลายคนคงคิดถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง แต่ถึงที่สุดแล้ว การเข้าถึงปรัชญาดังกล่าวยังมีคำถามอีกมากว่าแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอเพียง

        

]              แต่ถ้าจะจำเพาะให้เรียบง่าย คำตอบที่แสนธรรมดาเกี่ยวกับความพอเพียงคงจะนิยามได้ว่า “การกระทำใดๆ ก็ตาม ที่ทำแล้วครอบครัวมีความสุข ชุมชนมีความสุข และเมื่อชุมชนสุข ประเทศของเราก็จะเป็นสุข และผ่านพ้นวิกฤติได้” คำตอบนี้ไม่จำเป็นต้องอาศัยแนวคิดทฤษฎีสวยหรูมาอธิบาย แต่นี่คือความจริงที่ใครๆ ก็สัมผัสได้ เพราะนี่เป็นปากคำของปราชญ์ชาวบ้านที่ร่วมบอกเล่าถึงการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง จนนำชุมชนสู่ความเข้มแข็ง รอดพ้นวิกฤติกลับมายืนอย่างภาคภูมิใจได้ในวันนี้

        

                 ในการเสวนา “ทางรอดของชุมชน…ในยุควิกฤติ” ในงานมหกรรมหมู่บ้านเป็นสุขอย่างพอเพียง ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ปราชญ์ชาวบ้าน 3 ท่านคือ แม่ภาคี วรรณสัก จากบ้านทุ่งยาว จ.ลำพูน กำนันอดิศร เหล่าสะพาน จากบ้านดอนมัน จ.มหาสารคาม และผู้ใหญ่ชาติชาย เหลืองเจริญ จากบ้านจำรุง จ.ระยอง ผู้นำชุมชนที่นำพาชุมชนของตนเองดำเนินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มาร่วมเล่าขาน และให้แนวทางอยู่รอดในภาวะวิกฤตปัจจุบัน

         

                แม่ภาคี แม่หญิงจากทุ่งยาว ที่นำมาชุมชนร่วมต่อสู้เพื่อรักษาผืนป่าที่ถือว่าเป็น “ชีวิต” ของชุมชนมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี สะท้อนถึงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่กระทบกันไปหมดในขณะนี้ว่า สำหรับคนที่ทุ่งยาวแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นวิกฤติ เนื่องจากความเข้มแข็งของวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมเป็นอาวุธสำคัญ และนำพาให้ก้าวผ่านวิกฤติแต่ละครั้งของบ้านทุ่งยาวมาได้

      

                “วิกฤตเดี๋ยวนี้ สำหรับเฮาแล้วไม่ได้ถือว่าวิกฤต เพราะเฮามีประเพณีวัฒนธรรมเดิมที่ยังอยู่ ไม่ว่าจะมีวัตถุเพิ่มมากขึ้น แต่เฮาไม่ท้งวัฒนธรรมชุมชน” แม่ภาคีเล่าถึงปัจจัยสำคัญที่คนทุ่งยาวค้นพบจากการร่วมต่อสู้อย่างยาวนานในการรักษาผืนป่าที่ดินทำมาหากิน เนื่องจากทุ่งยาวเป็นพื้นที่ล่อแหลม และเป็นที่ต้องการของนายทุนจากภายนอก รวมถึงรัฐด้วย

       

                  ขณะที่กำนันอดิศร จากบ้านดอนมัน ผู้นำชุมชนที่พลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งและความยากจนมาสู่วิถีชีวิตแหงการพึ่งตนเอง นำความเข้มแข็งมาสู่ชุมชน เล่าว่า คนส่วนใหญ่เดินตามกระแสโลกาภิวัตน์ มีคนส่วนน้อยที่ทวนกระแส และต้องทให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าการดำเนินชีวิตแบบพออยู่พอกิน ว่าการดำเนินชีวิตแบบนั้นเองให้ได้ก่อน สามารถแก้ปัญหาความยากจน นำมาสู่วิถีชีวิตที่พึ่งตนเอง สามารถแก้ปัญหาได้ อันดับแรกต้องแก้ปัญหาของตัวเองให้เขาเห็นก่อน

         

                “คนที่ได้ค้าแรงงานภายนอก เมื่อกลับมาหมู่บ้านจะเห็นวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน จิตวิญญาณที่แตกต่างกัน คนที่อยู่ในหมู่บ้านใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกินจะมีความสุขมากกว่า ให้คนส่วนใหญ่ได้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าความคิดเปลี่ยน การดำเนินชีวิตจะเปลี่ยนได้ง่าย” กำนันอดิศรเล่า

      

                 สอดคล้องกับผู้ใหญ่ชาติชาย จากบ้านจำรุง หมู่บ้านชาวสวนที่ประสบกับปัญหาของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และผลเสียจากการใช้สารเคมี จนกระทั่งนำมาสู่การเรียนรู้ และการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี บนเส้นทางสายพอเพียง ยอมรับว่าในช่วงแรกๆ นั้นมีความเห็นแตกต่างกันในชุมชน สิ่งที่สำคัญต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน จากนั้นจะมีเพื่อนตามมา หลายคนมองว่าการใช้ชีวิตแบบพอเพียงทำไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องทำให้เขาเห็นว่าทำได้

         

               บ้านจำรุงใช้แนวทางของตัวเอง เริ่มจากเรื่อง นอน อยู่ รู้ กิน เริ่มจากการปรับเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน จากนั้นสร้างกิจกรรมขึ้นภายในชุมชน ขยายเครือข่ายออกไป จนถึงเดี๋ยวนี้มี 20 กลุ่มงาน และใช้วิทยุชุมชนในการเผยแพร่สิ่งที่ทำจนกระทั่งกลายเป็นภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน ทั้งนี้ ไม่ว่าสถานการณ์ในสังคมจะเป็นอย่างไร เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ”

        

               ผู้ใหญ่บ้านจำรุงเชื่อมั่นว่า หากแต่ละชุมชนมีความแข็งแกร่ง มีการทำงานเป็นกลุ่ม และมีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย หมู่บ้านใดที่เข้มแข็งจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ เผยแพร่ถ่ายทอด ต่อยอด ออกไปสู่ชุมชนอื่นๆ ทำแบบนี้สัก 3-4 ปี เรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศได้ หรืออย่างน้อยเรียนรู้กระแสงสังคมอย่างเท่าทัน

         

                สุดท้ายแล้ว แม่ภาคีกล่าวว่า การต่อสู้ ยืนหยัดในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อะไร เพียงแต่ต้องการมีชีวิตแบบพออยู่พอกิน ไม่รวย แต่มีกิน อยู่อย่างเป็นสุข มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันในชุมชนและหมู่บ้าน

        

               วันนี้ทั้ง 3 ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นบ้านทุ่งยาว บ้านดอนมัน และบ้านจำรุง ได้ก้าวเกินไปบนเส้นทางแห่งความพอเพียง และค้นพบคำตอบสำหรับตัวเองแล้ว แต่บ้านหลังใหญ่ที่ชื่อว่า “ประเทศไทย” ยังคงต้องขยายความคิดตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กระจายไปให้ทั่วพื้นที่ เพื่อที่สังคมไทยจะได้เป็นเหมือนทุ่นที่ลอยน้ำ ไม่ว่าน้ำจะขึ้นหรือลงเรายังลงลอยอยู่ได้ ในวิกฤติที่ต้องเผชิญ

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

 

                                                                                            update 20/04/52

Shares:
QR Code :
QR Code