แซวกันไปมา จากฉ่อยจึงกลายเป็นอีแซว

ทางไปโรงเรียนบ้านหนองขุมนั้น เส้นทางค่อนข้างสลับซับซ้อน เพื่อมาชมกลุ่มเพลงพื้นบ้านของตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีคุณครูมนัส และคุณครูวงษ์ศิริ แก้วเขียว ที่มาเป็นวิทยากร

เพลงอีแซวเป็นเพลงที่มีวิวัฒนาการมาพร้อมๆ กับระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยคือ เพิ่งถือกำเนิดเอาในช่วง 2475 มานี่เอง

“ที่มาของเพลงอีแซว จริงๆ แล้วเกิดจากการหาอะไรทำแก้เบื่อของคณะที่เดินทางมาทำบุญในงานเทศกาลหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ ที่สมัยก่อนการเดินทางไม่สะดวก เวลางานเลิกต้องรอจนถึงเช้า ถึงจะเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ ระหว่างนั้น ตอนกลางคืนไม่มีอะไรทำ คณะที่มาจากทางเหนือ (อ่างทอง สิงห์บุรี กาญจนบุรี) ซึ่งชอบเล่นเพลงฉ่อย และคณะที่มาจากทางใต้ (ลาว ไทย ทรงดำ) ซึ่งมีวัฒนธรรมการเป่าแคนจะแข่งขันประชันเพื่อความสนุกสนาน ร้องแซวไปแซวมา เลยเปลี่ยนมาเป็นการละเล่นเพลงอีแซว มีการพัฒนาทางด้านเครื่องดนตรี เพราะเพลงฉ่อยมีจังหวะช้า และได้มีการปรับให้มีช่วงจังหวะที่สนุกสนานขึ้น

ต่อมา นักเพลงแคน 3 คน ได้แก่ นายโปรย เสร็จกิจ นายเฉลียว บ้านปู่เจ้า และนายกร่าย จันทร์แดง ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญสามารถด้นกลอนสดเพลงอีแซวได้ดีเป็นพิเศษ จึงได้ถ่ายทอดเพลงอีแซวให้แก่ นางบัวผัน และนางขวัญจิต ศรีประจันต์ นำไปเผยแพร่ทางวงดนตรีเพลงลูกทุ่ง วิทยุและโทรทัศน์ จนคนดูเริ่มรู้จัก และเกิดความนิยม” คุณครูทั้งสองท่านเล่าให้ฟัง

ที่โรงเรียนแห่งนี้ มีการเปิดสอน เพลงอีแซวให้น้องๆ ตัวน้อย โดยไม่มีการบังคับ หากแต่สอนให้กับเด็กที่มีความสนใจ ศนิสา ทันนิกา ศิษย์เก่าของโรงเรียนแห่งนี้ช่วยสำทับอีกแรง โดยเธอยังบอกอีกว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างมาจากใจ และสิ่งที่ได้รับ คือเรื่องของความรักความอบอุ่น

 “การรับสมัครสมาชิกจะบังคับไม่ได้ เพราะว่า จะซ้อมนอกเวลาเรียน ฉะนั้นผู้ปกครองจะต้องมีส่วนร่วม ต้องรับรู้ และเต็มใจ ก็มี บางส่วนที่อยากร่วมกับเรา แต่พ่อแม่ไม่อนุญาต พูดตรงๆ เราก็เข้าใจ เพราะว่า หลังจากเลิกเรียนแล้ว พ่อแม่ก็อยากให้ลูกของตนกลับไปช่วยงานที่บ้าน” คุณครูเล่า

ที่น่าทึ่งที่สุด คือเด็กที่มาเข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่ เป็นเด็กที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านดนตรี หรือทางด้านการแสดงเลยแม้แต่น้อย ส่วนใหญ่จะมาเป็นก็เมื่อตอนที่เข้าวงนี้แล้วทั้งนั้น ครูมนัสอธิบายให้ฟังว่า เรื่องแบบนี้ไม่ต้องสอนอะไรกันมาก ถ้าเด็กเขามีใจ แค่มานั่งฟังนั่งดูรุ่นพี่ซ้อมรำซ้อมเต้นซ้อมร้อง เด็กก็จะเป็นด้วยตัวของเด็กเอง

พร้อมกันนี้ครูมนัส ได้ยกตัวอย่างของมือกลองให้ฟัง “อย่างเจ้านี่ เมื่อก่อนไม่เป็นอะไรเลย มานั่งฟังนั่งร้อง ตั้งแต่สมัย ป.1 พอ ป.4 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เรารับเข้าวง เข้ามาแป๊บเดียวก็เป็นแล้ว เพราะเขาเห็นเขาฟังมาตั้งแต่เด็ก จะมีก็เรื่องของโน้ตเพลง เรื่ององค์ความรู้ทางด้านดนตรีที่เพิ่มไปในช่วงหลัง”

ด้านครูวงศ์ศิริ เป็นคนดูแลเรื่องการเต้น การรำ การแสดง ซึ่งช่วยเสริมกับครูมนัสที่ดูแลเรื่องการร้องการดนตรี โดยพื้นเพของครูมนัสนั้น ทางครอบครัวมีพื้นฐานทางเพลงลูกทุ่ง เพลงฉ่อย ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ฝ่ายครูวงศ์ศิริ ก็เคยร่ำเรียนในวิทยาลัยนาฏศิลป์ ทั้งเรื่องร้องเรื่องรำ

 “เคล็ดลับที่ทำให้เด็กเราเป็นที่ยอมรับคือ ร้องให้สุดคำ รำให้สุดแขน” ครูมนัสกล่าว

 

 

 

ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ