แจงคืบหน้าวิจัยตรวจเลือดหามะเร็งเต้านม
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้า ของโครงการวิจัยพัฒนาวิธีคัดกรองมะเร็งเต้านมแบบใหม่ ด้วยการตรวจสารบ่งชี้ในเลือด งานวิจัยได้คืบหน้าไปอีกขั้น
ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล และหัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (NCI) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการวิจัยพัฒนาวิธีคัดกรองมะเร็งเต้านมแบบใหม่ ด้วยการตรวจสารบ่งชี้ในเลือด ที่ดำเนินการ มาตั้งแต่ปี 2558 ว่า ขณะนี้งานวิจัยได้คืบหน้าไปอีกขั้น
โดยอยู่ในช่วงเฟส 2-3 ซึ่งทำคู่ขนานไปพร้อมกัน จะช่วยให้ประหยัดเวลาการดำเนินโครงการไปได้ประมาณ 6 เดือน – 1 ปี จากการค้นหาสารชีวโมเลกุลในเลือด (biomarker) ของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะต่างๆ เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีก้อนเต้านมผิดปกติแต่ไม่ใช่มะเร็ง และเลือดในคนปกติ จำนวน 1,784 ชนิด จนสามารถคัดแยกสารเอกลักษณ์ที่มีความเป็นไปได้รวม 64 ชนิด
เนื่องจากมะเร็งแต่ละระยะจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ทำให้องค์ประกอบในเลือดมีทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน ขณะนี้ ทีมวิจัยอยู่ในช่วงการตรวจสอบความถี่ของสารแต่ละตัว เพื่อคัดเลือกสารชีวโมเลกุลที่มีโอกาสพบสูงสุดในมะเร็งเต้านม แต่ละระยะ ก่อนนำมาสร้างรูปแบบของการแสดงออก เพื่อ คัดแยกมะเร็งเต้านมแต่ละระยะออกจากกัน หากผลลัพธ์เป็นไปตามที่คาด ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพัฒนาสารที่มีความไวมากพอ ที่จะทำปฏิกิริยากับสารชีวโมเลกุลเหล่านี้พัฒนาเป็นอุปกรณ์ เพื่อตรวจวัดให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น
งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นเสมือนความหวังใหม่ ที่ช่วยให้ผู้หญิงไทยสามารถเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมะเร็งที่มีประสิทธิภาพได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจาก โรคมะเร็งเต้านมในอนาคต ขณะที่เทคนิคตรวจสุขภาพเต้านม เป็นประจำด้วยการคลำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ก็ยังมีข้อจำกัดด้านบุคลากรไม่เพียงพอ ส่วนการตรวจด้วยแมมโมแกรม แม้จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในปัจจุบัน แต่มีต้นทุนสูงไม่คุ้มค่า สำหรับประเทศไทย หากจะนำมาเป็นนโยบายในการตรวจคัดกรองเบื้องต้นให้กับผู้หญิงทุกคนที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป