แข่งขันทำอาหารฟิวชั่นผักผลไม้ 100 กรัม
ที่มา : MGR Online
แฟ้มภาพ
ม.สวนดุสิตส่งเมนู "เส้นลิงกวี่นีสด 3 สีผัดฉ่า ปลาบดสมุนไพร" คว้าชนะเลิศประกวดรังสรรค์เมนูฟิวชั่นผักผลไม้ 100 กรัม สสส.ย้ำกินผักผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัมช่วยลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ห้างสรรพสินค้าเซนทรัล สาขารัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี นพ.กำจัด รามกุล ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานการประกวด “รังสรรค์เมนูฟิวชั่นผักผลไม้ 100 กรัม” ภายใต้โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลผักและผลไม้สดปลอดภัยตลอดห่วงโซ่สู่การปฏิบัติ โดยมีผู้ร่วมแข่งขันซึ่งผ่านการพิจารณารอบแรกจำนวน 10 ทีม เข้าร่วม โดยนพ.กำจัด กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ปี 2560 เป็น “ปีแห่งการบริโภคผัก-ผลไม้สดปลอดภัย” โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันผลักดันในส่วนที่เกี่ยวข้อง การร่วมมือกันทุกภาคส่วนจะช่วยยกระดับการกับกับดูแลผักและผลไม้สดให้ทีคุณภาพและปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยได้อย่างเพียงพอ 400 กรัมต่อวัน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยส่งเสริมให้มีการผลิต การเข้าถึงแหล่งผลิต แหล่งจำหน่าย และแหล่งให้บริการผักผลไม้ที่ปลอดภัย ได้อย่างสะดวก รวมทั้งให้สื่อสารให้ประชาชนมีความรู้ ทักษะ และค่านิยมในการปลูกเพื่อบริโภค สำหรับการประกวดในครั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจบริโภคผักผลไม้มากขึ้น และเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนบริโภคผักผลไม้ ด้วยเมนูที่มีความหลากหลาย สวยงาม และอร่อย
ผศ. ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานโครงการรังสรรค์เมนูฟิวชั่นด้วยผักผลไม้ 100 กรัม กล่าวว่า ผักและผลไม้เป็นแหล่งของสารอาหารต่างๆ ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร สารพฤกษเคมี และสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ที่ร่างกายต้องการ และมีผลในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้นการบริโภคผักและผลไม้เป็นประจำจึงเป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัยได้ในปริมาณที่เพียงพอ หรือ 400 กรัมต่อวัน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ผศ.ดร.ชนิพรรณ กล่าวว่า ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่าการบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้น 1 หน่วยบริโภค (80 กรัม) ต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองได้ร้อยละ 10 และ 6 ตามลำดับ และลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งบางชนิด อาทิ กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ปอด และลำไส้ใหญ่ ร้อยละ 1-6 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเพิ่มปริมาณการบริโภคผักและผลไม้สามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้หลายชนิด ขณะที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้ทำการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป บริโภคผักผลไม้ต่อวันต่ำกว่าปริมาณที่แนะนำให้บริโภค สัดส่วนของประชากรที่บริโภคผักและผลไม้เพียงพอตามข้อแนะนำ มีเพียงร้อยละ 25.9 (ชายร้อยละ 24.1 หญิงร้อยละ 27.6) สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยบริโภคไม่เพียงพอมาจากทางเลือกของเมนูผักผลไม้ในชีวิตประจำวันค่อนข้างจำกัด
“การแข่งขันในครั้งนี้ เมนูที่ได้จากการประกวดเป็นอาหารฟิวชั่นที่เน้นสไตล์ ภาพลักษณ์ มีความสะดวกมากขึ้นและผ่านเกณฑ์ด้านคุณค่าโภชนาการ มีการผสมผสานความเป็นฟิวชั่นของสัญชาติอาหารตั้งแต่ 2 สัญชาติขึ้นไป มีความสวยงาม และอร่อย ทั้งอาหารจานหลัก อาหารว่าง และเครื่องดื่ม โดยคาดหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนทั่วไปที่ไม่ชอบบริโภคผัก นอกจากนี้ทางโครงการจะนำเมนูอาหารต่างๆ ที่ได้จากการประกวดมาใช้เผยแพร่ในรูปแบบสื่อต่างๆ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ให้มากขึ้นต่อไป” ผศ.ดร.ชนิพรรณ กล่าว
สำหรับทีมที่ชนะการประกวด “รังสรรค์เมนูฟิวชั่นผักผลไม้ 100 กรัม” ภายใต้โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลผักและผลไม้สดปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ สู่การปฏิบัติ จากผู้ร่วมแข่งขันซึ่งผ่านการพิจารณารอบแรกจำนวน 10 ทีม เข้าร่วม ทีมชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Wonder Girls จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กับเมนูอาหารจานหลัก "เส้นลิงกวี่นีสด 3 สีผัดฉ่า ปลาบดสมุนไพร อาหารว่างเป็น สามสหายลุยสวนกับยำถั่วพลูไข่ขาวและสาคูไส้หมูธัญพืช และเครื่องดื่มน้ำสัปปะรดปั่นใบสาระแหน่และวุ้นมะม่วงเสาวรส ส่วนทีมที่ชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ทีม กระจุ๊กกระจิ๊ก จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ทีม กินพอดี สุขีดุสิตา โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล และต่อยอดนำเมนูอาหารที่รังสรรค์เพื่อสุขภาพ รวบรวมลงหนังสือเพื่อเผยแพร่ต่อไป