“แก้” ความรุนแรงในผู้สูงอายุ

ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สุขภาพ

 

          ทีวีวันนี้อย่างน้อยก็ 2 ช่อง ที่เสนอภาพผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้ต้องตกระกำลำบากที่เมื่อใครได้เห็นแล้วต้องเกิดความสลดหดหู่หัวใจอย่างไม่อาจสะกดกลั้นได้ หลายคนดูไปน้ำตาไหลพรากไปด้วย ทีวี 2 ช่องที่ว่า คือ ช่อง 3 และ ช่อง 7

 

“แก้” ความรุนแรงในผู้สูงอายุ

          ภาพและชีวิตผู้สูงอายุที่ทีวีไปนำมาเผยแพร่นั่นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยในสังคมไทย ที่ประชาชนคนสูงอายุมีนับสิบล้านคนที่มีผู้แจ้งเบาะแสให้สื่ออย่างทีวีไปถ่ายทำมาเสนอ เพื่อที่จะหาผู้ใจบุญได้ร่วมกันทำบุญทำทานช่วยเหลือเกื้อกูล ที่ยังคงอยู่ในมุมมืดไม่มีใครไปแจ้งผู้มีส่วนรับผิดชอบ หรือแจ้งแล้วก็ไม่มีใครเข้าไปร่วมรับผิดชอบ น่าจะยังมีอีกมากมายพะเรอเกวียนทีเดียว

 

          ทุกชีวิตของผู้สูงอายุที่ปรากฏออกทางสื่อผ่านสู่สาธารณะ ล้วนผ่านกระบวนการความรุนแรงในรูปแบบต่างๆมาแล้วทั้งสิ้น กว่าจะมาถึงจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ความโดดเดี่ยวเดียวดายถูกทอดทิ้งอยู่ตามลำพังให้อดอยากยากแค้น ไม่เห็นเงาของลูกหลานญาติพี่น้องแม้กระทั่งหน่วยงานที่ถูกกำหนดให้ดูแลรับผิดชอบด้วยภาษีของคนทั้งประเทศ

 

          มีคนจำนวนไม่น้อยที่พูดติดตลกว่าแก่แล้วไม่มีอะไรดี โดยเฉพาะคนที่พูดก็มักจะรู้ตัวเองว่ากำลังแก่ ถ้าเป็นคนยากจนหาเช้ากินค่ำเริ่มแก่ คงไม่รู้สึกอะไรนักกับการอยู่โดดเดี่ยว เคยชินแล้วจะรู้สึกก็คงเพียงความอ่อนล้า ความเหน็ดเหนื่อย เริ่มรู้สึกว้าเหว่บ้าง ผิดกับคนที่มีฐานะ มีลูกเต็มบ้านหลานยั้วเยี้ยพอเริ่มแก่ชีวิตเริ่มเปลี่ยนไปจากลูกหลานล้อมหน้าล้อมหลังด้วยความรักความเคารพ ก็ค่อยๆ มาเป็นค่อยๆ ตอดเอาผลประโยชน์ จนกระทั่งไม่มีอะไรจะให้แล้ว นั่นแหละคราวนี้ค่อยๆ หายไปทีละคนสองคน

 

          คนสูงอายุถูกทอดทิ้งนั่นเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรง เฉกเช่นเดียวกับปัญหาการทำร้ายร่างกายเหมือนกัน

 

          ปัญหาความรุนแรงในผู้สูงอายุนั้นสังคมยังมีการพูดถึงกันน้อย เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและมักถูกปกปิด เพราะผู้กระทำผิดส่วนใหญ่คือญาติ เป็นลูกเป็นหลานเป็นพี่เป็นน้องของผู้สูงอายุเอง ที่สำคัญที่สุดในห้วงเวลานั้นผู้สูงอายุยังต้องพึ่งพาคนเหล่านี้อยู่ โดยทั่วไปก็ไม่ได้คิดหวังว่าจะมีคนอื่นมาคอยดูแลตนเองอยู่แล้ว

 

          ยิ่งมองสภาพสังคมปัจจุบันท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ก็เชื่อได้ว่าความรุนแรงต่อผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น

 

          จึงคงต้องหันมากระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่คอยดูแลสารทุกข์สุกดิบของผู้สูงอายุโดยตรง หน่วยงานที่กระตุ้นคุณธรรมจริยธรรมให้หันมาตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้

 

          ต้องมีกระบวนการในการจัดการปัญหาอย่างเท่าทันมากกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเชิงสังคมสงเคราะห์เท่านั้น

 

          ย้อนไปสัมผัสปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุที่ผ่านสื่ออย่างทีวีดังที่กล่าวข้างต้น บอกย้ำให้ได้รับรู้ว่า ปัญหาความรุนแรงมิใช่มีเพียงแค่การทำร้ายทางร่างกายและการทอดทิ้ง แต่รวมถึงด้านจิตใจเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ เป็นการกระทำส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดความเจ็บปวดและได้รับอันตราย หรือเกิดความทุกข์ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสุขภาพ

 

          มีตั้งแต่การละเมิดสิทธิ การเอาประโยชน์ต่อทรัพย์สิน การปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง ไม่ดูแล รวมทั้งการละเว้นการกระทำที่พึงกระทำ เป็นการกระทำโดยบุคคลในครอบครัว หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เป็นการกระทำอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวชั่วคราว หรือต่อเนื่อง

 

          ในหลักทางพระพุทธศาสนาแล้วถ้าเป็นพวกลูกหลานญาติพี่น้องที่ปฏิบัติต่อผู้สูงอายุตามที่กล่าวข้างต้น ถือว่าเป็นความชั่วเป็นบาป ในส่วนลูกหลานเรียกว่าอกตัญญู  พวกทำเช่นนี้ไม่มีความเจริญงอกงามในชีวิต

 

          ใครที่เกื้อหนุนผู้สูงอายุ หรือให้การเอื้อเฟื้อ ถือว่าเป็นผู้ให้ทานผู้เสียสละเป็นการทำบุญทำความดีเสริมสร้างบารมีให้ตัวเองและครอบครัวอีกทางหนึ่ง แม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องดูแลอยู่แล้ว ทำดีแก่ผู้สูงอายุก็ได้รับผลดีเช่นกันที่เห็นผลดีทันทีคือใครแล้วย่อมมีความสุขทั้งกายและใจอย่างทันตาเห็น

 

          วันนี้หน่วยงานหนึ่งอย่าง แผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำร่องในการผลักดันแก้ไขความรุนแรงในผู้สูงอายุ แล้วก็นำร่องเรื่องการคุ้มครองช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว แต่อยากเน้นย้ำสังคมไทยให้หยุดความรุนแรงในผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

 

Update 04-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย: อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code