แก้ภัย น้ำเมา มือสอง ต้องสกัดที่ต้นทาง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
ใครจะเชื่อว่า สังคมไทยได้ก้าวมาถึงจุดที่เรากำลังมี "เหยื่อ" ที่ได้รับ ผลกระทบจาก "ภัยเหล้ามือสอง" จำนวนไม่น้อยในวันนี้ ปัจจุบัน แม้ "เรา" จะไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ แต่เราอาจเป็นคนหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากภัยเหล้า
ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการศึกษา ในงานเสวนา "สถานการณ์ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนไทยในครอบครัวนักดื่ม" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า
จากการศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่มในประเทศไทย หรือภัยเหล้าที่เราไม่ได้ดื่ม ในกลุ่มประชากรไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,695 คน ที่อาศัยอยู่ใน 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร (กทม.) พบว่า ร้อยละ 79 เคยได้รับผลกระทบจากภัยเหล้า มือสองอย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยร้อยละ 76.8 ได้รับผลกระทบด้านจิตใจและความรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น เมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะเพราะการดื่มของคนแปลกหน้าร้อยละ 38.3 หวาดกลัวเมื่อเผชิญคนแปลกหน้าที่ดื่มตามถนนร้อยละ 33.2 เคยตื่นกลางดึกเพราะเสียงรบกวนจากวงสุรา ร้อยละ 31.2 เคยโดยสารไปกับคนขับรถที่ดื่มหรือเมา ร้อยละ 22.8 เป็นต้น ส่วนร้อยละ 42 ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น คนในครอบครัว เพื่อนไม่ทำงานเพราะเมา ร้อยละ 28.9 เคยมีปัญหากับเพื่อนเพราะการดื่มของเขา ร้อยละ 10เคยมีปัญหาครอบครัวจากการดื่มของคนอื่น ร้อยละ 8.8 เป็นต้น ร้อยละ 22.6 ได้รับ ผลกระทบทางการเงินและการสูญเสียทาง เศรษฐศาสตร์ เช่น เคยมีปัญหาการเงิน ไม่มีเงินพอใช้จ่าย จากการดื่มของคนอื่น ร้อยละ 11.2 เคยเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มของคนอื่น ร้อยละ 5.2 บ้าน รถ ทรัพย์สินเสียหายจากการดื่มของคนอื่น ร้อยละ 5.1 เคยต้องหยุดงาน ขาดเรียน เพราะได้รับอันตรายจากการดื่มของคนอื่น ร้อยละ 4.7 เป็นต้น และ ร้อยละ 6.2 ได้รับผลกระทบทางร่างกายหรือทางเพศ เช่น เคยถูกคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ผลัก ร้อยละ 4.9 เคยถูกคนดื่มทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 2.4 และเคยถูกบังคับกดขี่ทางเพศจากการดื่มของคนในครอบครัวและเพื่อน ร้อยละ 0.8
ซึ่ง เมื่อดูเฉพาะประเด็นของเด็ก และเยาวชนไทย พบว่า ร้อยละ 24.6 เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ของคนอื่น ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 5.7 เด็กได้รับผลกระทบมาจากการดื่มของ พ่อแม่ ร้อยละ 5.7 มาจากการดื่มของคน ในชุมชนหรือคนแปลกหน้า ร้อยละ 3.5 มาจากการดื่มของญาติพี่น้อง และร้อยละ 1.4 มาจากเพื่อน
"ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นความรุนแรงต่อเด็กรูปแบบหนึ่ง ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและใจ คุณภาพชีวิตและพัฒนาการของเด็ก ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้สามารถป้องกันได้ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ โดยเฉพาะหากมีมาตรการคัดกรองเด็กที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง หากสามารถคัดกรองส่งพ่อแม่ ที่มีการดื่มไปบำบัดรักษาและช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ จะช่วยลดความรุนแรงหรือช่วยก่อนที่ จะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นได้ อย่างประเทศอังกฤษ ก็จะมีมาตรการตรงนี้" ภญ.อรทัย กล่าว
ด้านรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการเป็น ผู้ดื่มเองหรือการเป็นนักดื่มหน้าใหม่ และ ได้รับผลกระทบทั้งที่ไม่ได้ดื่มเอง ซึ่งมาจาก การที่มีคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัวดื่มแล้วทำให้เด็กและเยาวชน อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย ทั้งนี้ จากการ เก็บข้อมูลโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี จำนวน 2,282,523 คน หรือร้อยละ 23.91 คิดเป็น 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด ระบุว่า ดื่มสุราในรอบ 12 เดือน ที่ผ่านมา หากไม่มีการป้องกัน ประเทศไทย อาจมีเยาวชนเป็นนักดื่มประจำและ นักดื่มหนักเพิ่มมากขึ้น
สอดคล้องกับ สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ที่ระบุว่า จะต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่นกัน เพื่อลดการเข้าถึงเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ที่ผ่านมา เรายังประนีประนอม กับเรื่องของสุรามากเกินไป โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่จะต้องดูแลไม่ให้เข้าถึงได้ง่าย เพราะเป็นวัยที่ต้องเรียนและเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นกำลังของประเทศ หากมีมาตรการชัดเจนจริงจังไม่ให้เด็กและเยาวชน เข้าถึง ก็น่าจะช่วยป้องกันเหตุต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยได้
ภญ.อรทัย กล่าวเสริมว่า ควรต้องมีมาตรการลดการเข้าถึงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ต้นน้ำด้วย ซึ่งมีงานวิจัยใน ต่างประเทศพบว่า ถ้าขึ้นราคาสุราร้อยละ 1% จะลดความรุนแรงร้อยละ 3.1-3.5% ขณะที่งานวิจัยพบว่า ชุมชนไหนมีจำนวน ร้านเหล้ามาก ก็จะมีรายงานคดีความรุนแรงในครอบครัวมากเช่นกัน แต่เมื่อลดจำนวนชั่วโมงจำหน่ายเหล้า กลับพบว่าจำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัว ลดลงไปด้วย การไปใช้ห้องฉุกเฉินใน รพ.จากเหล้าลดลง ดังนั้น จึงต้องตัดตอน บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ลดสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง เพิ่มกิจกรรมเชิงบวกกับเยาวชน เพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่