แก้ปัญหาเมาแล้วขับ…
ต้องอาศัยแรงผลักจากทุกภาคส่วนเวทีนี้…ไม่มีใครอยู่ปลายเหตุ
จากข่าวผู้ว่า จ.อยุธยาฯ เตรียมทำหนังสือถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด สั่งขังผู้ที่เมาแล้วขับและมีแอลกอฮอล์เกินกว่า150 mg/dl ขึ้นไป ถือเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย
ที่ผ่านมา มีความพยายามในทุกรูปแบบที่จะยกระดับเรื่อง”เมาแล้วขับ” ให้เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่การรณรงค์สร้างกระแส การผลักดันการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก กรณีตรวจพบระดับแอลกอฮอล์เกิน 50 mg/dl จากโทษปรับ 2,000 พันบาท เป็นปรับ 5,000 – 20,000 บาท เพิ่มโทษจำ และสามารถระงับหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ รวมไปถึงการส่งคุมประพฤติ นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันกฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่เข้มงวดเรื่องช่วงเวลาในการขาย สถานที่ที่ห้ามขายเหล้า รวมทั้งการห้ามขายเหล้าแก่ผู้ซื้อที่อายุต่ำกว่า 20 ปี แม้จะพยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเมาแล้วขับยังไม่ลดลงอย่างน่าพอใจ ดังจะเห็นได้จากสงกรานต์ที่ผ่านมาโดยข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า ร้อยละ 39.9 ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการดื่มแล้วขับ (คงที่มาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา) และเมื่อเจาะลึกเฉพาะผู้ที่เสียชีวิต ข้อมูลจากศูนย์นเรนทร ระบุว่า กว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 58.6) ของผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา โดยเฉพาะวันที่ 13-15 เมษายน จะมีสัดส่วนสูงขึ้นมาถึงร้อยละ 67-69 หรือเทียบได้ว่า ในผู้เสียชีวิต 3 คน จะมี 2 คนที่สัมพันธ์กับการดื่มสุรา และตัวเลขนี้จะสูงกว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ที่พบร้อยละ46.7
ประเด็นที่น่าห่วงใย คือ เกือบ 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิต เป็นเด็กและเยาวชน (ผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยกว่า 20 ปี คิดเป็นร้อยละ23.6) ซึ่งพบอีกว่าส่วนใหญ่สัมพันธ์กับเรื่องการดื่ม และขับขี่รถจักรยานยนต์ คำถามที่ตามมา คือ เยาวชนที่อายุน้อยกว่า 20 ปีเหล่านี้ สามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล่านี้ได้อย่างไร
ข้อมูลการสำรวจการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ร้านค้าที่กระทำผิดร้อยละ 5 อ้างว่าไม่รู้กฎหมาย แต่ผู้กระทำผิดที่รู้กฎหมาย ประมาณ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 27 ให้เหตุผลว่าต้องการมีรายได้มากที่สุด
ในขณะที่ข่าวของคุมประพฤติจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่ามีผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับถูกส่งคุมประพฤติกว่า 9,000 คนในปีที่ผ่านมา โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 5 เป็นข้าราชการ และที่สำคัญคือ ร้อยละ 10 เป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ (แต่ยังคงลงโทษคุมประพฤติเช่นเดิม)
ดังนั้น การที่ท่านผู้ว่าฯ อยุธยา หันมาพึ่งศาล ให้ลงโทษรุนแรงขึ้น แม้จะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นการชี้นำศาล ศาลถือเป็นองค์กรที่ต้องอาศัยความเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถือเป็นการให้ข้อมูลกับศาลว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและเป็นปัญหาสังคมที่ใหญ่เกินกว่าที่ศาลจะบอกว่าตนเองเป็น”ปลายน้ำ” บทเรียนของประเทศที่มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งประเทศเหล่านี้ มีการดื่มแอลกอฮอล์ในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าประเทศไทย แต่ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัญหานี้ไม่สูงเหมือนประเทศไทย เกิดจากกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ ตำรวจ อัยการและผู้พิพากษา (อังกฤษ และ ฝรั่งเศส พบเมาแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุร้อยละ 12 และ 17 ตามลำดับ) โดยเฉพาะการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ปัญหา และมีบทลงโทษที่รุนแรง
ในญี่ปุ่นการตรวจพบแอลกอฮอล์เกินที่กำหนด ถูกปรับ 3 แสนเยน (1 แสนกว่าบาท) ตัวอย่างที่เป็นข่าวล่าสุด (20 เม.ย. 53)มีชาวอังกฤษขับรถเด็กเล่น ที่ความเร็วเพียง 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อตรวจมาพบแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ศาลอังกฤษพิพากษาพักใบอนุญาตขับขี่ถึง 3 ปี
ถ้าจะมีการเพิ่มโทษผู้ที่เมาแล้วขับโดยยึดเกณฑ์ระดับแอลกอฮอล์ มีการศึกษาพบว่า ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100-150 mg/dl จะเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่าผู้ไม่ดื่มถึง 8 เท่า และถ้ามีระดับแอลกอฮอล์ 151-200 mg/dl จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 40 เท่าที่สำคัญคือ มีการตอบสนองที่ช้าลง 1-1.5 วินาที หรือเปรียบเทียบว่าถ้าขับขี่ด้วยความเร็ว 100 กม/ชม. การตอบสนองที่ช้าลง จะเพิ่มระยะการหยุดรถขึ้นมาอีกถึง 35 เมตร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต
ดังนั้น ถ้าจะลงโทษกักขังโดยใช้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด150 mg/dl เป็นเกณฑ์ แม้จะยังเป็นระดับที่สูงและเสี่ยงต่ออุบัติเหตุแต่ก็เป็นจุดเริ่มที่นำข้อมูลเชิงวิชาการมาประกอบการพิจารณาได้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งกรณีที่เป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มการลงโทษที่แรงขึ้น
สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-2298-0500 ต่อ 1222
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update: 11-05-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร