แก้ปัญหาทรัพยากร ด้วยชุมชนจัดการตนเอง
จะดีแค่ไหน?? ถ้าปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลได้ด้วย “ชุมชน” จัดการตนเอง เพียงเข้าใจประเด็น เห็นความสำคัญ ปัญหาก็จะคลี่คลาย
“การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ส่งผลเสียต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และก่อให้เกิดปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน น้ำและทรัพยากรชายฝั่งรวมทั้งปัญหามลพิษที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งด้านมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ เสียงขยะและสิ่งปฏิกูล”
นี่คือหนึ่งในคำบอกเล่าก่ำกึ่งไปทางส่งสัญญาณเตือนภัยให้พี่น้องชาวไทย ตั้งรับกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทย กำลังประสบ… คำถามคือ มีสักกี่คน กี่ชุมชน กี่พื้นที่ ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จนบรรจุเป็นวาระเร่งด่วน วางแผนตั้งรับ พร้อมรับมือถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ
หนึ่งในพื้นที่ที่กล่าวมาคือ "ป่าซ่งผีบ้า" ป่าทามริมฝั่งลำชี พื้นที่ 2,200 ไร่ มีเขตยาวตามลำน้ำชี เป็นแหล่งสงวนพันธุ์ปลาที่ยิ่งใหญ่ ผืนป่าทามแห่งหนี้เคยเสื่อมโทรมจากการบุกรุกแผ้วถางป่าขยายที่ทำกิน แต่แกนนำชุมชนสามารถรวบรวมอาสามัครชาวบ้านขึ้นเป็นกลุ่มอนุรักษ์ ใช้ยุทธวิธีการสื่อสารสร้างความเข้าใจ ทั้งคนภายในและภายนอกชุมชน จนสามารถรักษาป่าไว้ได้โดยไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรง อาศัยแรงคนเป็นหูเป็นตา เป็นรั้วล้อมป่า และขยายผลการอนุรักษ์ออกไปยัง 6 หมู่บ้านรอบผืนป่าชุมชน
"ตอนเด็กๆ ป่าสมบูรณ์มาก ผมเข้าไปหาผัก หาปลา มีที่เลี้ยงควาย ตอนกลับบ้านก็มีอาหารติดมือกลับไป ตอนกลางวันก็หากินตรงนั้น ไม่เคยต้องใช้เงิน สัตว์ป่าก็ชุกชุม ต้นไม้เยอะมาก ตอนนั้นใครที่คิดว่าป่าจะหมดไปก็ถือว่าบ้าเต็มที่แล้ว" ผู้ใหญ่พร้อม ผลบุญ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติริมฝั่งลำชี ช่วยให้ภาพป่าในอดีต
ด้วยเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ใครๆ ก็สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าได้ ยิ่งพอมีสัมปทานป่า ประกอบกับ
มีการสร้างทางรถไฟก็ทำให้ต้นไม้ใหญ่ๆ ในป่าลดลงอย่างรวดเร็ว ตอนนั้น ผู้ใหญ่พร้อม ยังทำงานการรถไฟ เดินทางไปกลับบ้านและที่ทำงานก็ต้องลัดเลาะในป่า เห็นคนชุมชนใกล้เคียงเข้ามาลักลอบตัดไม้ขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ชั่วระยะไม่ถึง 10 ปีป่าก็ถูกทำลายจนเสื่อมโทรม
และในปี 2537 "กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมป่าชุมชนริมฝั่งลำชี" จึงก่อตั้งขึ้น โดยรวมกลุ่มอาสาสมัครที่มีใจรัก เริ่มต้นด้วยสมาชิก 25 คน ตั้งคณะกรรมการด้านต่างๆ และร่างกฏข้อบังคับ สาระโดยหลักคือ ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ห้ามลักลอบจับสัตว์ป่า ห้ามจุดไฟ จัดเวรยามลาดตระเวนไฟป่าในหน้าแล้ง จัดหากล้าไม้มาปลูกเสริมในพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรม ช่วงแรกๆ ที่เริ่มต้น ยังมีการลักลอบตัดไม้ แต่เมื่อดำเนินการไปนานเข้า ก็เริ่มเห็นผล สภาพป่าเริ่มฟื้นตัว อาหารนานาชนิดเริ่มมีให้เห็น สัตว์ป่าก็เริ่มกลับมา บัดนี้ ดำเนินการมา 15 ปีแล้ว ผลลัพธ์ก็คือ ชุมชนมีพืชอาหารพื้นถิ่นกินกันทุกครัวเรือน เพื่อให้มี "รั้ว" ล้อมรอบป่าชุมชนบ้านจาน ซึ่งมีอาณาเขตติดกับพื้นที่ของชุมชนอีก 6 หมู่บ้าน กลุ่มฯ จึงประสานเชื่อมโยงไปสู่ชุมชนดังกล่าว ให้ช่วยดูแลรักษา เพื่อได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ป่าชุมชนแห่งนี้จึงไม่มีรั้ว มีเพียงป้ายต่างๆ ที่ร่วมกันทำในหมู่สมาชิก
"ผมว่าไม่มีลวดอะไรที่เหนียวแน่นและดีเท่ารั้วคน" ทุกวันนี้มีชาวบ้านและชุมชนเข้าร่วมครบทุกด้านทุกมุม รวมทั้งหว่านเมล็ดพันธุ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลงในหัวใจเด็กๆ ด้วยการพาเดินสำรวจป่าร่วมกับครูภูมิปัญญา นอกจากไม่ต้องเช็คชื่อ ยังสนุกและได้ความรู้อีกด้วย
ข้ามฝากมาชื่นชมผลงานชุมชนจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งชุมชนเข้มแข็งชายฝั่งทะเลภาคใต้ “ชุมชนชายฝั่งทะเลบ้านบางหิน” อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ที่รวมกลุ่มกันเพื่อพิทักษ์รักษาสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่กำลังใกล้จะสูญพันธ์ที่ชื่อว่า “หอยขาว” และ “หอยหวาน
“จากปัญหาจำนวนหอยขาวและหอยหวานลดลงมาก จากที่เคยจับได้ครั้งละ 10 กิโลกรัม ตอนนี้เหลือเพียง 1-2 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งหน้าที่หลักของคณะทำงานโครงการชาวบางหินร่วมใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความคิดและกลไกการฟื้นฟูและอนุรักษ์หอยขาวและหอยหวานสู่ครัวเรือนและเยาวชน พัฒนาความรู้และทักษะยุวมัคคุเทศก์ให้แก่เด็กและเยาวชน สร้างศูนย์เรียนรู้หอยหวานและหอยขาวเพื่อการศึกษาเรียนรู้ ขยายพันธุ์ และขยายผลการดำเนินงาน สู่สาธารณชน ”
อาทิตยา เมืองมินทร์ เลขานุการ คณะทำงานโครงการ เล่าถึงการทำงานในนามโครงการชาวบางหินร่วมใจนำวิถีชีวิตไทยสู่สุขภาวะชุมชน จนเกิดเป็น “ปฏิญญาอ่าวกะเปอร์” ว่าด้วยการอนุรักษ์ฟื้นฟู สิ่งแวดล้อมในชุมชน ทั้งป่าบก ป่าชายเลน ส่งเสริม สนับสนุน ประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม และเข้ามามีการอนุรักษ์ในบริเวณอ่าว ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีของ อ่าวกะเปอร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์กับชุมชน รอบอ่าวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ภายใต้แนวคิด ภูผาสู่ทะเลของอ.กะเปอร์ ความน่ารักของชุมชนนี้คือการชักชวนเด็กๆ เยาวชนมร่วมเป็นทีมอนุรักษ์ โดยการปลูกจิตสำนึกให้เด็กๆ เห็นความสำคัญของเจ้าหอยขาวและหอยหวาน ทำให้พวกเขาเห็นว่าถ้าไม่มีทั้ง 2 หอยนี้ ครอบครัวเขาอาจจะขาดรายได้ลงไป ซึ่ง “ยุวมัคคุเทศน์” ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผล เพราะนอกจากจะปลูกฝังหัวใจอนุรักษ์แล้ว บรรดาผู้ปกครองยังสบายใจได้ว่าลูกไม่หายไปไหน ที่สำคัญลดปัญหายาเสพติดในเด็กกลุ่มเสี่ยงได้อีกด้วย
“ขณะนี้มียุวมัคคุเทศก์ที่มีความพร้อมแล้วราว 6-7 คน ตั้งแต่ ม.3 จนถึงม.ปลาย การเตรียมยุวมัคคุเทศน์ เริ่มจากการพัฒนาองค์ความความรู้เรื่องชุมชน และการนำเที่ยว โดยพานักท่องเที่ยวนั่งเรือพีช ซึ่งเป็นเรือไม้ท้องแบนขนาดเล็กของชาวประมง พัฒนามาเป็นเรือนำเที่ยวได้ ส่วนที่พักเรามีใช้รูปแบบของโฮมสเตย์” อาทิตยา เล่าและบอกถึงพัฒนาการของกลุ่มเด็กที่เข้าร่วมในกิจกรรมปลูกป่าที่เด็กๆ ได้คิดเชื่อมกับการท่องเที่ยวกับการหารายได้เข้าชุมชน โดยการชักชวนให้นักท่องเที่ยวช่วยปลูกป่าชายเลน ในราคาเพียงต้นละ 10 บาทเท่านั้น
ทั้งสองตัวอย่างที่เล่ามานี้ อาจจะมีความแตกต่างเรื่องพื้นที่ แต่ที่เหมือนกันคือวัตถุประสงค์ที่อยากจะรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนตนเองให้คงเดิม ก็เพื่อรักษาวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ให้คงเดิมตราบเท่าที่จะเป็นไปได้
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในชุมชนของคุณ เพื่อคุณไปพร้อมกับเราสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.
ที่มา : สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.