เฮียนฮู้ฮีตไต วิถีชาวไทยใหญ่
เสริมคุณค่าสื่อพื้นบ้าน สานภูมิปัญญาแก่เยาวชน
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกลุ่มดินสอสี จัดโครงการ “สื่อพื้นบ้านสานใจคนรุ่นใหม่ สานสุขทุกชุมชน” ขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 28 โครงการจากทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมคุณค่าสื่อพื้นบ้าน สืบสานภูมิปัญญา ให้เยาวชนและชุมชนมีสุขภาวะที่ดี ภายใต้การสนับสนุนกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ต้องการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ห่างไกลจากอบายมุข
โครงการฟ้อนไตประยุกต์ ปลุกจิตสำนึกเยาวชนบ้านเวียงหวาย ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีชาวไทยใหญ่ อาศัยเป็นจำนวนมาก และยังเป็น 1 ใน 28 โครงการย่อยสื่อพื้นบ้านสานสุข ที่ดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้นมา ทางกลุ่มดินสอสีนำคณะลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อดูกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนไทยใหญ่บ้านเวียงหวาย ภายใต้กิจกรรม “เฮียนฮู้ฮีตไต ลูกอ่อนคนใหญ่ จ้วยกั๋นฟื้นฟู” หรือ “เรียนรู้วัฒนธรรมไทยใหญ่ เด็กและผู้ใหญ่มาช่วยกันฟื้นฟู”
ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตชาวไทยใหญ่ การสืบค้นหาข้อมูลความเป็นมา ด้วยการถามจากพ่อเฒ่า แม่เฒ่า รวมถึงพิธีการดำหัวตามประเพณีดั้งเดิมของชาวไทยใหญ่ การแสดงฟ้อนไตประยุกต์จากเยาวชน และหมู่บ้านข้างเคียง ได้แก่ การฟ้อนนก ฟ้อนโต การฟ้อนเจิง การฟ้อนดาบ กับเครื่องดนตรีโบราณ เช่น ระนาดเหล็ก ฆ้องแผง กลองยาว ฉาบ ตียอ หรือไวโอลินพม่า
รวมถึงการแต่งกายชาวไทยใหญ่ ที่ผู้ชายสวมเสื้อไต นุ่งกางเกงขาก๊วย คล้ายกางเกงจีน มีผ้าโพกเคียนที่ศีรษะ ส่วนผู้หญิง สวมผ้าซิ่น หรือผ้าถุงยาวคลุมตาตุ่ม เสื้อแขนขาวคลุมเอวสาบเสื้อป้ายทับไปด้านเดียวกับผ้าถุงบ้าง และเป็นแบบหลวมๆ แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์เป็นแบบรัดรูปเสื้อสั้น สาบเสื้อก็สลับทับไปคนละด้านบ้าง
ชาวไทยใหญ่แห่งบ้านเวียงหวาย นับถือศาสนาพุทธเถรวาท แต่บางบ้านก็ตั้งศาลพระภูมิหน้าบ้าน โดยใช้ปี๊บมาทำเป็นตัวศาล ภายในมีพระ ธูปเทียน เชื่อว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทั้งยังมีวัดเป็นศูนย์ร่วมของชุมชนอีกด้วย
หรือการทำอาหารของชาวไทยใหญ่ที่จะมี “ถั่วเน่า” เป็นเอกลักษณ์จะขาดไม่ได้ คือ นำถั่วเหลืองมาต้มและหมักไว้ จากนั้นนำมาผึ่งแดดให้แห้งเก็บไว้ผสมกับอาหาร พวกแกงต่างๆ คล้ายกะปิ
เหล่านี้ล้วนสะท้อนภูมิปัญญาพื้นบ้านจากรุ่นสู่รุ่น ที่มีประโยชน์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ น้ำพริกคั่วทรายที่ผสมถั่วเน่าเป็นหลัก การทำถั่วเน่าจิ้นลุง หรือลูกชิ้นของชาวไทยใหญ่ น้ำพริกพูที่ผสมกับมะเขือเทศ และพริกมาตำให้เข้ากัน โดยรสชาติส่วนใหญ่จะจืดๆ หรือ ขนม เช่น ข้าวหลามมูล คล้ายๆ กะละแม แต่อยู่ในกระ บอกไม้ไผ่
ต่างได้รับสนใจจากผู้คนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน ผู้เฒ่า ต่างมานั่งดูการแสดงวัฒนธรรมของลูกหลานตัวเอง และร่วมทำอาหาร ที่วัดสุนทรวาส วัดไทยใหญ่ ประจำหมู่บ้าน
นาง
ทำให้รู้ว่าเมื่อประมาณ 100 กว่าปี ชาวไทยใหญ่ที่อพยพมา ยังมีความคิดว่าเป็นคนพม่าที่ประเทศอังกฤษปกครองอยู่ พอมีปัญหาอะไร ก็จะไปขึ้นตรงกับกงสุลอังกฤษ ตอนหลังรัฐ ไทยในขณะนั้น คือ อ.ฝาง เข้ามาพูดคุยว่า ถ้าจะอยู่เมืองไทยต้องซื้อชาติไทยคนละ 4 แถบ ซึ่งเป็นเงินโบราณพม่า และในทุก 7 วันต้องมารายงานตัว
ส่วนนามสกุลชาวไทยใหญ่ที่นี่ จะขึ้นต้นด้วยลุง เช่น ลุงต่า ลุงลู่ ลุงคำ ลุงป้าง เป็นต้น เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่นึกไม่ออกว่าจะใช้นามสกุลอะไร ก็เอาชื่อพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วมาตั้งเป็นนามสกุล
ส่วนวิธีดำเนินการโครงการ เริ่มจากการหาแกนนำเยาวชน ซึ่งเป็นเด็กในหมู่บ้าน ทั้งที่เรียนอยู่และจบไปแล้ว ตั้งแต่อายุ 10 – 25 ปี ที่มีความสนใจงานศิลปะพื้นบ้าน ช่วงแรกได้เยาวชนที่เป็นแกนนำอยู่ประมาณ 10 คน และให้ไปสืบค้นประวัติความเป็นมาในชุมชนจากการซักถามคนเฒ่าคนแก่ ทำให้พวกเขาเข้าใจ และรู้ถึงประวัติความเป็นมาของตัวเอง
ด.ญ.
รวมถึงประเพณีการแสดงของไทยใหญ่ และหวังว่าผู้คนในชุมชนอื่นจะรู้จักชุมชน เข้ามาเยี่ยมเยียน อยากฝากถึงเพื่อนๆ ที่อยู่หมู่บ้านอื่น ที่เป็นชาวไทยใหญ่เหมือนกันว่า การเรียนรู้สื่อพื้นบ้านไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงกระบวนการมีส่วนร่วม และยังทำให้วัฒนธรรมไทยใหญ่คงอยู่สืบไปด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 27-04-52