เอกชนตีโจทย์ร่วมออกแบบการศึกษาเพื่อชีวิตจริงในการทำงาน
เมื่อคุณภาพแรงงาน กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในเวที “ปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ บทบาทของภาคเอกชนในการร่วมจัดการศึกษาสายอาชีพ จัดโดย กลุ่มเพื่อนปฏิรูป ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ กทม.
ข้อมูลจากเวทีครั้งนี้ พบว่า ผลิตภาพของแรงงานไทยในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับแรงงานมาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งมีผลิตภาพสูงกว่าแรงงานไทยถึง 1.6 เท่า 3.8 เท่า 2.9 เท่า และ 3 เท่าตามลำดับ กล่าวได้ว่าแรงงานมาเลเซียเพียง 1 คน จะมีประสิทธิภาพการทำงานเทียบเท่ากับคนไทยถึง 2 คน และยังส่งผลต่อโอกาสการแข่งขันในตลาดเสรีแรงงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (aec) ในปี 2558
ขณะที่การผลิตบุคลากรเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานกลับไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยพบว่า จากผลสำรวจความต้องการของตลาดแรงงานสายอาชีพ (ปวช. ปวส.) ที่สูงถึง 82% แต่สามารถผลิตแรงงานระดับ ปวส.ได้เพียง 18% และสถานประกอบการกลับต้องฝึกอบรมบุคลากรเพื่อเรียนรู้สู่ชีวิตจริงในการทำงาน
บทบาทของภาคเอกชนในการร่วมจัดการศึกษาสายอาชีพ จึงหยิบยกกรณีศึกษาของภาคเอกชนที่ร่วมจัดการศึกษาในระดับอาชีวะ มาร่วมแลกเปลี่ยนในวงเสวนา เริ่มด้วยกรณีศึกษาบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด
จากความขาดแคลนบุคลากรในระดับช่างเทคนิคที่มีความรู้ทางด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ยังใหม่ต่อประเทศไทย จึงเกิดแนวคิดในการสนับสนุนสถาบันการศึกษาใน 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี (vocational chemical engineering practice college) หรือ v-chepc ในวิทยาลัยเทคนิคมาบตพุด จ.ระยอง และโครงการต้นแบบการผลิตช่างเทคนิคเพ่ออุตสาหกรรม (scg model school) ในวิทยาลัยเทคนิคระยอง
เสมา พูลเวช บริษัท เอส ซี จี เคมิคอลส์ จำกัด กล่าวว่า ในบริษัทเอส ซี จี เคมิคอลส์ มีพนักงานถึง 60-70% ที่จบปวส. ในแต่ละปีจะพบปัญหาของการรับพนักงานใหม่คือ วิชาการอ่อน เพราะยังไม่มีหลักสูตรในวิทยาลัยใดที่สอนเรื่องปิโตรเคมี โดยตรง และขาดความรู้ทางเทคนิค ที่สำคัญคือ ขาดความอดทนในการทำงาน จึงนำหลักสูตรที่ใช้ในการอบรมพนักงานมาออกแบบเป็น 2 หลักสูตร คือ v-chepc เพื่อผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ทางด้านเทคนิค (เฉลี่ยจำนวนนักศึกษา 35 คน/ปี) ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคมาบตพุด และ scg model school ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคระยอง ซึ่งจะรับนักเรียนที่จบสายวิทยาศาสตร์ ม.6 เข้าศึกษาต่อในระดับ ปวส. เพื่อผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ด้านปฏิบัติการทางเคมีในสายการผลิต (เฉลี่ยจำนวนนักศึกษา 40 คน/ปี) เนื่องจากสถานประกอบการยังต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพทั้งเก่งงานและเก่งคน มีวินัยและมีเทคนิคในการเรียนรู้ หากมีการฝึกตั้งแต่ในช่วงวัยเรียนเพื่อสร้างกระบวนการคิด เรียนรู้ได้เร็ว ในระยะยาวจะคุ้มค่ากว่า
อุดร เห็นชอบดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมาบตพุด แลกเปลี่ยนว่า เนื่องจากวิทยาลัยแห่งนี้มีขนาดเล็กผู้บริหารและครูยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลง จึงเริ่มเข้าสู่โครงการด้วยการอบรมผู้บริหาร และครูเพื่อพัฒนาครูให้ทำหน้าที่กระตุ้นการเรียนรู้โดยเริ่มจากสิ่งที่ผู้เรียนสนใจและนำสู่การแลกเปลี่ยนร่วมกัน และพบว่าหลักสูตรที่สอนยังไม่ครบจึงนำหลักสูตรของกรมอาชีวศึกษามาคลี่ดูร่วมกับสถานประกอบการเพื่อเรียบเรียงกันใหม่ว่าในโรงงานต้องการให้เด็กเรียนรู้อะไร และให้ไปฝึกในโรงงาน เพื่อให้เด็กที่จบไปตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และมีความรู้ 100%
หากมีการขยายผลสู่สถานศึกษาแห่งอื่นๆ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมาบตพุด สะท้อนว่า “เงื่อนไขสำคัญต้องมีการเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหารสถานศึกษาและครู แม้จะมีกฏระเบียบข้อจำกัด แต่ต้องกล้าที่จะทำ เพื่อให้เด็กจบไปได้งาน ครูต้องเรียนรู้วิธีการสอนแบบใหม่โดยเป็นผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ และสำหรับภาคอุตสาหกรรมถ้าต้องการเด็กที่จบแล้วสามารถเข้าทำงานได้เลย ต้องคุยกับโรงเรียน ในเรื่องหลักสูตรเพื่อตกลงร่วมกันว่าต้องการให้เด็กได้รู้อะไร การเรียนในโรงเรียนให้เด็กได้เรียนอะไร และเมื่อฝึกงานในสถานประกอบการจะฝึกอะไร จะวัดผลอย่างไรให้ชัดเจน”
เช่นเดียวกับ กรณีศึกษาบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) “pranda” ที่หันมาลงทุนผลิตบุคลากรในระดับ ปวช.เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยตรง โดยร่วมกับกาญจนาภิเษก วิทยาลัยช่างทองหลวง เพื่อออกแบบการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน โดยภาคเอกชนได้ขยายผลการสอนทั้งสายวิชาชีพและวิชาสามัญด้วยการประยุกต์เนื้อหาให้สอดคล้องกับเรื่องใกล้ตัวทางวิชาชีพ
ทั้งนี้บทบาทของภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาในระดับอาชีวะ จะนำสู่การถอดบทเรียนและสังเคราะห์สู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์