เห็ดระโงกพิษ กินแล้วอันตรายถึงชีวิต
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา (สคร.5) เตือนช่วงหน้าฝนประชาชนนิยมเก็บเห็ดป่าในธรรมชาติมากิน ซึ่งเห็ดป่านั้นมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษกินไม่ได้ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน อาจเกิดความเข้าใจผิด เห็ดที่ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือ เห็ดระโงกพิษ
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา (สคร.5) กล่าวว่า ช่วงหน้าฝนประชาชนนิยมเก็บเห็ดป่าในธรรมชาติมากิน ซึ่งเห็ดป่านั้นมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษกินไม่ได้ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เห็ดที่ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่า เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่านที่สามารถกินได้แต่เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง
สำหรับเห็ดพิษชนิดนี้มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกดีแล้วเช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้ นอกจากเห็ดระโงกพิษแล้วยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงอีกคือ เห็ดเมือกไครเหลืองและเห็ดหมวกจีนจะเป็นเห็ดที่คล้ายกับเห็ดโคนขนาดเล็กของบ้านเรา หลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดไข่ห่านเห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่ มารับประทานเนื่องจากจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือ ไม่มีพิษ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน เมื่อกินเห็ดพิษเข้าไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องหรือถ่ายอุจจาระเหลว เบื้องต้นให้ผู้ป่วยล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว เพื่อให้อาเจียนเอาเศษอาหารออกมาให้ได้มาก ที่สุด จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันทีแล้ว รีบแจ้งประวัติการกินเห็ดพร้อมกับตัวอย่าง เห็ดพิษ
"ช่วงฤดูฝนเดือน ก.ค. จนถึงปลายเดือน ก.ย.ของทุกปี จะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากเห็ดพิษ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือปีนี้พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษแล้ว 170 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร จึงควรหลีกเลี่ยงเก็บเห็ดไข่ห่านเห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่มีพิษที่สำคัญห้ามกินเห็ดพร้อมกับดื่มสุราเนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว" นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต