“เห็ดนางฟ้า” พัฒนาคุณภาพชีวิต
สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ สินค้าแพง ค่าครองชีพสูง ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่มีฐานะค่อนข้างยากจน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่ส่วนหนึ่งเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ ก็จะต้องออกไปประกอบอาชีพเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ดังนั้นเรื่องของการปลูกฝัง “ทักษะวิชาชีพ” จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่น้อยไปกว่าทักษะและความรู้ในด้านวิชาการ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสและทางเลือกในการทำงานที่มากยิ่งขึ้น
โรงเรียนบ้านสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงได้จัดทำ “โครงการเพาะเห็ดนางฟ้า” ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ” ขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการองค์ความรู้ พัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ปูพื้นฐานหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง “ลดรายจ่าย” หันมา “พึ่งพาตัวเอง” ให้กับเด็กนักเรียน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายสงกรานต์ หน้อยปัญญา ครูผู้รับผิดชอบโครงการเล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า การเพาะเห็นเป็นอาชีพที่ทำได้ไม่ยาก ประกอบกับสภาพพื้นที่ของชุมชนมีความเหมาะสม ถ้าหากส่งเสริมและให้ความรู้กับเด็กนักเรียนเพื่อให้พวกเขาสามารถต่อยอดทำเป็นอาชีพเสริมร่วมกับที่บ้าน ก็จะสามารถช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยโครงการนี้จะมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการเพาะเห็ดนางฟ้าแบบครบวงจร จนสามารถทำเองได้ทุกขั้นตอน รวมไปถึงประยุกต์ใช้วัสดุในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนในการผลิตในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างจากที่อื่นๆ ที่ใช้วิธีการซื้อก้อนเชื้อเห็ดแล้วนำมารอเพื่อเก็บผลผลิตในโรงเรือนเท่านั้น
“ที่ผ่านมาในพื้นที่เคยมีคนเพาะเห็ดนางฟ้าขาย แต่ใช้วิธีการซื้อก้อนเชื้อมาเพื่อเปิดดอกทำให้มีต้นทุนสูงไม่นานก็เลิกไป แต่ถ้าเราสามารถทำได้เองทุกขั้นตอนต้นทุนก็จะต่ำมาก โดยนักเรียนจะได้เรียนรู้และทดลองปฏิบัติด้วยตนเองตั้งแต่ การเตรียมวัสดุเพาะ การอัดถุงก้อนเชื้อเห็ด การนึ่งก้อนเชื้อเห็ด การหยอดหรือเขี่ยเชื้อ การเตรียมโรงเรือน การดูแลและเก็บผลผลิต และการตลาด โดยพยายามกระตุ้นให้เข้ามีส่วนร่วมคิดร่วมทำ เช่นจะลดต้นทุนยังไง มีวิธีการนึ่งแบบอื่นได้ไหม หรือจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งหลายวิธีที่เขาคิดมาบางครั้งเราก็นึกไม่ถึง” ครูสงกรานต์กล่าว
สำหรับโครงการเพาะเห็ดนางฟ้าของโรงเรียนบ้านสบเตี๊ยะ มีจุดเด่นตรงที่ใช้งบประมาณดำเนินการค่อนข้างต่ำ ไม่เน้นที่การซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีราคาสูง แต่อาศัยความเข้าใจในหลักการผลิต มาประยุกต์ใช้กับเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนหรือในพื้นที่ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของท้องถิ่นและตัวของผู้เรียน ซึ่งทำให้องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัวของเด็กๆ ถ้าหากพวกเขาคิดจะชักชวนคนในครอบครัวให้ทดลองทำ โดยปัจจุบันเห็ดนางฟ้าอยู่ในรอบการผลิตรุ่นที่ 2 โดยในรุ่นแรก สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายคิดเป็นเงิน 14,000 บาท จากโรงเรือนเล็กๆ ที่มีก้อนเชื้อเห็ดเพียง 3 พันก้อน ซึ่งมีต้นทุนการผลิตตกก้อนละไม่เกิน 4 บาท ก้อนเชื้อแต่ละรุ่นจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 เดือน หลังจากนั้นก็จะเริ่มทำการผลิตในรอบใหม่ ส่วนก้อนเชื้อเห็ดที่หมดสภาพแล้ว ยังสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักใช้ปลูกพืชผักต่างๆ เพื่อใช้ใน “โครงการอาหารกลางวัน” ของโรงเรียนได้อีกด้วย เห็ดนางฟ้าอีกส่วนหนึ่งยังถูกนำไปใช้ต่อยอดการเรียนรู้เพื่อแปรรูปไปเป็น “ข้าวเกรียบเห็ด”และ “แหนมเห็ด” เพื่อจำหน่ายในราคาถุงละ 10 บาท
และเมื่อเรื่องราวของการเพาะเห็ดนางฟ้าถูกนำไปบอกเล่าต่อยังผู้ปกครองหรือในชุมชน ทำให้มีคนสนใจสั่งให้ผลิตก้อนเชื้อเห็ดเพื่อนำไปเปิดดอกต่อเป็นประจำ แต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 500 ก้อน ในราคาก้อนละ 5 บาท นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่เมื่อทราบข่าวก็สั่งผลิตก้อนเชื้อเห็ดไปในการจัดกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเด็กๆ และทุนหมุนเวียนให้กับโครงการได้เป็นอย่างดี
ด.ญ.ลักษณา รุ่งโรจน์ประชาชื่น หรือ “เฟิร์น” นักเรียนชั้น ม.3 เล่าว่าทุกวันจันทร์และวันศุกร์ในคาบเรียนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ก็จะได้ลงมาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ สำหรับการเพาะเห็ดนางฟ้า ยกเว้นขั้นตอนการนึ่งที่จะยกให้เป็นหน้าที่ของเพื่อนผู้ชายเนื่องจากก้อนเชื้อหนักและร้อน
“นอกจากในชั่วโมงเรียนแล้วทุกๆ เช้าก็จะมีการจัดเวรสลับกันเข้าไปดูแลรดน้ำและเก็บเห็ดไปขาย เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งๆ จะเก็บเห็ดได้ประมาณ 10 กก. โดยจะนำไปขายให้กับครูและเพื่อนๆ ช่วงพักเที่ยงในราคา 3 ขีด 20 บาท หรือ กก.ละ 60 บาท ซึ่งขายหมดทุกวัน โครงการนี้นอกจะทำให้เรามีความรู้ในเรื่องของการเพาะเห็ดแล้วยังสอนในเรื่องของการอยู่อย่างพอเพียง” น้องเฟิร์นระบุ
ด.ช.สุนทร ราษฎรสรรเสริญ หรือ “อาโก้” นักเรียนชั้น ม.3 เล่าว่า ขั้นตอนการเพาะเห็ดนางฟ้านั้นที่ยากที่สุดก็คือการผสมส่วนผสมต่างๆ ของก้อนเชื้อเพราะมีส่วนผสมหลายชนิด แต่ขั้นตอนที่ดูเหมือนยากและต้องการความสะอาดมากอย่างการเขี่ยเชื้อนั้นกลับเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับเขา
“การเพาะเห็ดนางฟ้านั้นเป็นอาชีพที่ทำงานน้อยกว่าอาชีพเกษตรกรรมอื่นๆ ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง แถมยังมีรายได้ดีกว่า และมองว่าเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจในอนาคต ถ้าจบออกไปยังไม่มีงานทำก็สามารถที่จะเพาะเห็ดขายเป็นอาชีพอยู่ที่บ้านได้ เพราะเป็นงานสบาย ดูแลง่าย รายได้ก็ดี” น้องอาโก้กล่าว
นายอุดม ศรีติ๊บ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสบเตี๊ยะเปิดเผยว่าทักษะอาชีพและทักษะชีวิตมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าทักษะด้านวิชาการ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กนักเรียนทุกคนๆ ไม่เฉพาะเด็กที่มีฐานะยากจนเท่านั้น เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินชีวิตในอนาคต
“ทักษะและประสบการณ์ที่เขาได้รับจากการทำงานต่างๆ ภายใต้โครงการนี้ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี และสามารถบูรณาการไปกับการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระวิชา แม้วันนี้เขาอาจจะยังไม่ได้คิดถึงเรื่องของอาชีพ แต่เมื่อเขาจบออกไปแล้วเขาก็สามารถที่จะนำทักษะในด้านต่างๆ ที่มีและติดออยู่ในตัวของเขาไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพอื่นๆ ได้อย่างแน่นอน”ผอ.อุดมกล่าว
“โครงการนี้เราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่รายได้หรือผลกำไร ขอแค่พอมีรายได้หมุนเวียนเพียงพอต่อการทำงานในรอบต่อไปเท่านั้น เพราะเราเน้นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ อยากให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างสนุก มีความสุข เกิดทักษะอาชีพ เกิดการทำงานเป็นกลุ่ม เกิดทักษะการคิดคำนวณอย่างมีเหตุมีผล ตรงนี้เป็นต้นทุนความคิดที่สำคัญที่เขาอาจจะดัดแปลงไปใช้ในการประกอบอาชีพอื่นๆ ในอนาคตได้ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ อยู่ในสังคมได้เท่านี้ก็พอใจแล้ว” ครูสงกรานต์สรุป.
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)