“เหล้าปั่น” มลพิษร้ายใกล้สถานศึกษา
เพาะบ่มนักดื่มหน้าใหม่
“ได้ยินเพื่อนในห้องเค้าคุยกัน ก็เลยชวนเพื่อนในกลุ่มไปลอง ลองก็หวานๆ ดีค่ะ”
“มันดื่มง่ายไงพี่ ประมาณว่าเมาไม่รู้ตัวเพราะรสมันหวานๆ มั้ง พวกผู้หญิงเค้าก็คงคิดว่ามันก็แค่น้ำหวานไง สุดท้ายก็..”
“เหล้าปั่นมันกินง่าย ไม่เหม็น ไม่ค่อยมีกลิ่นรุนแรงเหมือนเหล้าหรือเบียร์ที่ขายกันทั่วไป มีรสชาติที่หวานคล้ายมีรสผลไม้เหมือนน้ำผลไม้ปั่น”
“เวลาสั่งไม่มีการตรวจบัตรประชาชน”
เสียงจากวัยรุ่นวันเรียนซึ่งพูดถึงเหล้าปั่นที่สามารถซื้อหาได้ง่าย และรสชาติคล่องคอกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องตระหนักคิด เพราะกำลังนำมาซึ่งการสร้างสังคมไม่เข้มแข็งด้วยค่านิยมเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จะว่าไปแล้วเหล้าปั่นก็ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดเดียวที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาแต่เหล้าปั่นเบียร์ปั่นเป็นสินค้าน้องใหม่มาแรงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเด็กและเยาวชน มีโอกาสที่สินค้าพักอาศัยท่ามกลางร้านเหล้า รายงานการสำรวจของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า มีร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานครจำนวนมากเฉลี่ย 57 ร้านต่อตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) พบว่า ทุกมหาวิยาลัยในกรุงเทพฯ มีร้านขายเหล้าล้อมรอบในรัศมี 500 เมตร โดยภาพรวมมีร้านขายเหล้าทั้งสิ้น 1,712 แห่ง เฉลี่ย 57 ร้านต่อ 1 ตร.กม. ยกตัวอย่างสถานศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรัศมี 500 เมตร มีร้านเหล้า 407 ร้าน ม.รามคำแหง มี 164 ร้าน ม.เกษตรศาสตร์ มี 129 ร้าน ม.ราชภัฏจันทรเกษม มี 125 ร้าน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง มี 123 ร้าน ม.ศรีนครินทรวิโรฒ มี 100 ร้าน ฯลฯ
ขณะที่ใน 15 พื้นที่รอบมหาวิทยาลัยที่ทำการศึกษา มีโรงเรียนทั้งสิ้น 118 โรงเรียน มีถึง 73 โรง หรือ 2 ใน 3 ของโรงเรียนที่นักเรียนสามารถเดินไปซื้อเครื่องมือแอลกอฮอล์ได้ในระยะเพียง 100 เมตร และในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยนี้ มีหอพัก คอนโด อพาร์ตเมนต์ แมนชั่น ที่มีนักศึกษาอาศัยอยู่ทั้งสิ้น 724 แห่ง กว่าร้อยละ 90 ของหอพักเหล่านี้มีร้านขายเหล้าในระยะไม่เกิน 100 เมตร สะดวกในการเข้าถึงน้ำเมาของเด็กมาก แถม 1 ใน 4 ของหอพักที่นักศึกษา เช่ามีร้านขายเหล้าขายอยู่ภายในซึ่งผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มาตรา 27 ข้อเท็จจริงจากรายงานสะท้อนให้เห็นว่า เยาวชนของชาติตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตรายและเสี่ยงต่อการก้าวสู่การเป็นนักดื่ม
และที่น่ากลัวมากคือ จากผลการสุ่มและถ่ายคลิปวิดีโอร้านขายเหล้ารอบมหาวิทยาลัย 10 แห่งในกรุงเทพฯ พบว่า สุ่มทั้งหมด 54 ร้านเหล่านี้จะแทรกซึมและบ่มเพาะค่านิยมนักดื่มรุ่นเยาว์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตอนนี้มีร้านเหล้าประชิดสถานศึกษาและขยายตัวอย่างรวดเร็วขณะที่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ออกกฎหมายลูกเพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี การออกประกาศกระทรวงเพื่อควบคุมการขายเหล้าปั่น โดยเฉพาะร้านเหล้ารอบๆ สถานศึกษา
ปัจจุบันนักเรียน นิสิต นักศึกษา เรียนและมีร้านทำผิดกฎหมายขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เห็นได้จากสวมใส่เครื่องแบบนักเรียน ถึง 45 ร้าน หรือร้อยละ 83.3 ปฏิเสธไม่ได้ว่าร้านเหล้ารอบๆ สถานศึกษาส่วนใหญ่ขาดความรับผิดชอบต่อเยาวชน มุ่งแต่จะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กนักเรียนนักศึกษาโดยไม่สนใจว่าจะผิดกฎหมายหรือจะเป็นผลร้ายต่อเยาวชนหรือไม่
ภาพการรุกคืบเข้ามาสู่สถานศึกษาของร้านขายเหล้าปั่นเป็นอีกประเด็นที่มีการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด จากรายงานพบว่า มีร้านเหล้าปั่นรวม 84 ร้านรอบมหาวิทยาลัย 15 แห่ง เฉลี่ย 5.6 ร้านต่อหนึ่งมหาวิทยาลัยโดยที่ร้อยละ 87 ของร้านขายเหล้าปั่นตั้งอยู่ในรัศมี 200 เมตรรอบมหาวิทยาลัย นอกจากนั้น มีตัวเลขที่น่าตกใจ ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี พบว่า ร้านเหล้าปั่นเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ปัญหาไม่ได้มีเฉพาะในกรุงเทพฯ เพราะจากการสำรวจจุดขายเหล้าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง พบว่า ต้นปี 2550 มีจำนวนร้านเหล้าปั่น 15 ร้าน ปลายปีได้เพิ่มขึ้นเป็น 38 ร้าน ก่อนจะขยับเพิ่มเป็น 47 ร้าน ในช่วงต้นปี 2552 นั่นคือ ในช่วงเวลาสั้นๆ มีจำนวนร้านเหล้าปั่นเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สะท้อนความนิยมสินค้าน้องใหม่ที่แซงหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
ใกล้ถึงวันเยาวชนแห่งชาติในวันที่ 20 กันยายนนี้ มีเครือข่ายต้านเหล้ารวมถึงเหล้าปั่นออกมาเคลื่อนไหว อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วยการจัดประชุมเพื่อกำหนดมาตรการที่ชัดเจน หวังว่าจะเป็นของขวัญให้เด็กและเยาวชนเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติปีนี้ซึ่งถ้าได้รับสิ่งดีๆ ไม่ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายก็จะทำให้พวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิด และเป็นคนดีของสังคมได้ต่อไป
งานนี้ภาครัฐควรแสดงความจริงจัง เร่งจัดประชุมพิจารณาหามาตรการควบคุมร้านเหล้าปั่นและร้านเหล้ารอบๆ สถานศึกษาโดยด่วน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update 04-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์