เหนือ’ฝุ่นพิษยังวิกฤติ เตือนรับมือพายุฤดูร้อน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
กรุงเทพธุรกิจ 9 จังหวัดเหนือยังอ่วม ฝุ่นพิษวิกฤติ ทภ.3 กวดขันเข้มลักลอบ เผาป่า-พืชไร่ กรมอุตุฯ เตือน "พายุฤดูร้อน" ถล่มไทยช่วง 14-18 มี.ค. ทั้งเหนือ อีสาน ภาคกลาง ตะวันออก กทม.-ปริมณฑล ขณะที่ คณะแพทยศาสตร์ มช. เตือนภัยฝุ่นพิษ ชี้เชียงใหม่เผชิญปัญหานับ 10 ปี แต่ภาครัฐเพิกเฉย ไร้แผนแก้ไข
กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่ประกาศ "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งมีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 14-18 มี.ค. 2562" ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 13 มี.ค.ระบุว่า ในช่วงวันที่ 14-18 มี.ค. ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อน โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่า โดยจะเริ่มใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับผลกระทบในวันถัดไป จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อพืชผลทางการเกษตรไว้ด้วย
สำหรับผลกระทบตามภาคต่างๆ ในช่วงวันที่ 13-14 มี.ค. ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา ภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว นครนายก และปราจีนบุรีในช่วงวันที่ 15-16 มี.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา ภาคกลาง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออกระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา
ด้าน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงผลกระทบ จากสภาพอากาศว่า ปภ.ได้ประสานจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือในช่วงวันดังกล่าวและเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง
นายชยพล กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองในจังหวัดภาคเหนือว่า จากข้อมูลคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ วานนี้ (13 มี.ค.) เวลา 05.00 น. พบว่า มีจังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เกินค่ามาตรฐาน 100 รวม 9 จังหวัด ประกอบด้วย 1.เชียงราย 2.เชียงใหม่ 3.ลำปาง 4.ลำพูน 5.แม่ฮ่องสอน 6.น่าน 7.แพร่ 8.พะเยา และ9.ตาก
ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสาน 9 จังหวัดภาคเหนือเตรียมพร้อมป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ เน้นการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาพื้นที่เกษตรกรรม
ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานดัชนี AQI เมื่อช่วงเย็นวานนี้(13 มี.ค.) วัดค่าได้ใน 9 จังหวัด ระหว่าง 121-277 อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ส่วนค่าPM 2.5 ระหว่าง 67-165 มคก./ ลบ.ม.เกินค่ามาตรฐาน ขณะเดียวกัน AQI ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น วัดค่าได้ 230, ต.นาอาน อ.เมือง จ.เลย วัดค่าได้ 220 และบริเวณริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร วัดค่าได้ 215 ในระดับสีแดง (มีค่า 201 ขึ้นไป)
ด้าน พล.ต.บัญชา ดุริยะพันธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 ได้สั่งการผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ กลุ่ม"ควบคุมสถานการณ์หมอกควัน ทภ.3" ระบุว่า ให้ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ พร้อมหัวหน้าหน่วยราชการในจังหวัด ใช้ Action Plan ที่จะปรับเปลี่ยนให้การแก้ปัญหาวิกฤติหมอกควันมุ่งไปในพื้นที่ต่างๆ ของ จ.เชียงใหม่ ดังนี้ 1. ระดมติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำ รอบคูเมืองทั้ง 4 ทิศ ของ อ.เมืองเชียงใหม่ และบริเวณห้วยตึงเฒ่า และให้ดำเนินการตั้งแต่ 10.00 – 14.00 น.ของ ทุกวัน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของตึกสูงร่วมพ่นละอองน้ำ และรณรงค์การงดเผาอย่างเด็ดขาด ด้วยมาตรการทางกฎหมาย
2. ตั้ง War Room ที่สโมสรค่ายกาวิละ วางแผนในการปฏิบัติดับไฟป่าในเขตพื้นที่ เพื่อลดค่าละอองฝุ่นพิษ ตั้งแต่วันนี้(13 มี.ค.) และรายงานผลการปฏิบัติงานวงรอบ 24 ชั่วโมงทุกวัน ให้กับ กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ
ที่ จ.แม่ฮ่องสอน สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ประกาศยกเลิก 2 เที่ยวบิน จาก ท่าอากาศยานเชียงใหม่ – ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน เที่ยวบินที่ PG351 และ PG352 หลังทัศนะวิสัยการมองเห็นอยู่ในระยะ 2,000 เมตร นับเป็นการยกเลิกเที่ยวบินไปแล้ว 8 เที่ยวบินในช่วงเกิดวิกฤติหมอกควันไฟป่า
ขณะที่ ในการบรรยายเรื่อง มหันตภัยฝุ่นพิษถล่มเมือง ซึ่งจัดโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ ระบุถึงผลกระทบจากฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้นว่า จ.เชียงใหม่ต้องประสบกับวิกฤติหมอกควันมานานนับ 10 ปี การแก้ไขปัญหาของภาครัฐก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ทุกวันนี้ยังเห็นภาพของการฉีดพ่นน้ำ และยังมีการประนีประนอมกับคนเผาป่า ทำให้ ชาวเชียงใหม่ต้องอยู่ในภาวะตายผ่อนส่ง รัฐบาลชุดไหนก็ไม่มีนโยบายเข้ามาจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดฝุ่นควันพิษอย่างจริงจัง
นพ.ชายชาญ ระบุด้วยว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัมของค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น มีอัตราเข้าห้องฉุกเฉิน และนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 นี่เป็นผลกระทบระยะสั้น แต่ผลกระทบระยะยาวจะมีมากกว่านี้ถึง 10 เท่าตัว ค่าฝุ่นPM 2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐานมา 3 วันนี้ หลังจากนี้อีก 1 สัปดาห์จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เตียงนอนโรงพยาบาลรัฐไม่มีพอ ตอนนี้ยังไม่มีแผนภัยพิบัติจาก จ.เชียงใหม่ พวกหมอหลายคนหมดใจ ทำไมถึงเพิกเฉยขนาดนี้ เชียงใหม่ประสบปัญหามา 10 ปี ซึ่งภาครัฐไม่มีทางออกที่ชัดเจน เป็นปัญหาเรื้อรัง นโยบายระดับประเทศชัดเจน หากว่ายังเพิกเฉย ปัญหาหมอกควันพิษจะรุนแรงขึ้น
ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ศึกษาผลกระทบ สุขภาพ และการท่องเที่ยวเสียหายเป็น 10,000 ล้านบาท แต่ก่อนปัญหาหมอกควันมี ประมาณ 1-2 เดือน แต่ปีนี้นานกว่า 3-5 เดือน คาดว่าจะนานไปจนถึงพฤษภาคม